เสียงเรียกร้อง ผสมกับแรงกดดัน จากทั้งในและนอกสภาฯที่รวมพลังกัน "บี้" ให้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "ลาออก" จากตำแหน่ง หรือไม่ก็เลือกทาง "ยุบสภา" ด้วยข้อหาที่ว่า การบริหารงานผิดพลาด ล้มเหลว อยู่มา 7ปีแต่ประเทศไทยยังไม่มีอะไรดีขึ้นนั้น เห็นทีว่าเสียงเรียกร้องที่ว่านั้น กำลังถูกกลบด้วย อิทธิฤทธิ์ของ "ฝ่ายรัฐบาล" ที่มี "ผู้จัดการรัฐบาล" ที่ชื่อ "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสียแล้ว
ยิ่งเมื่อท่าทีจาก บิ๊กตู่ ที่ลุกขึ้นแจง ต่อที่ประชุมสภาฯ ตลอด 3วัน 3 คืนที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เห็นว่านาทีนี้นายกฯนอกจากจะไม่ "ถอดใจ" แล้ว ยังเดินหน้าเพื่อเร่งกู้วิกฤตโควิด -19 เพื่อพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็น "บวก" ทั้งต่อประชาชน ภาวะเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเป็นฝ่ายถือ "แต้มต่อ"ทางการเมือง ในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ตลอดห้วงของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในกรอบวงเงิน 3.1ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 31พ.ค. จนมาถึงวันลงมติ 2 มิ.ย.เวทีสภาฯได้กลายเป็น "สังเวียน" ระหว่าง "พรรคร่วมรัฐบาล"ด้วยกันมากกว่าที่จะเปิดพื้นที่ให้ "ฝ่ายค้าน"
เมื่อลูกพรรคภูมิใจไทย แสดงออกชัดเจนว่าไม่พอใจ กับการที่ "กระทรวงสาธารณสุข" ถูกปรับลดงบประมาณลง มิหนำซ้ำที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ยัง "ดึงอำนาจ" การบริหารจัดการของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข จนถึงขั้นฟาดงวงฟาดงากันกลางสภาฯ ทำให้ "พรรคฝ่ายค้าน" เริ่มจะมีความหวังว่า งานนี้อาจจะได้เห็น "ความเปลี่ยนแปลง" ว่าพรรคภูมิใจไทย จะตอบโต้พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการไม่โหวตรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 65 หรือไม่
แต่แล้วเมื่อนาทีโหวตลงมติ กลางดึกคืนวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ชัดเจนว่า เสถียรภาพของรัฐบาล ยังเหนียวแน่น เพราะนอกจากเสียงโหวตของพรรคร่วมรัฐบาล "ไม่แตกแถว"แล้วยังกลายเป็นว่างานนี้ยัง "เปิดตัว" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ คนใหม่ อย่าง "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ซึ่งเคยเป็นมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ก็ย้ายมาสังกัดเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังได้นั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2565 ในโควตาของพลังประชารัฐไปอีกด้วย
ลำพังการที่พรรคพลังประชารัฐได้สมาชิกคนใหม่มาเพิ่ม อย่างเรืองไกร ยังไม่ถือเป็นไฮไลต์ตามที่ "วิรัช รัตนเศรษฐ" ประธานวิปรัฐบาล แย้มไต๋ออกมาแล้วว่า เอาไว้รอให้ใกล้วันเลือกตั้งเมื่อไหร่อาจมี "เซอร์ไพรซ์"มากกว่านี้
ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองที่เคยคุกรุ่น ระหว่างลูกพรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ชนิดไม่เกรงใจ ก็พลันตกอยู่ในความเงียบสงัด คล้ายกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกอาการไม่พอใจ เมื่อสิ่งที่คาดไว้ไม่เป็นดังหวัง
การเมืองก็เป็นเช่นนี้ มิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร นั้นต้องดูเกมกันยาวๆ !
จนถึงวันนี้ "ฝ่ายตรงข้าม" รัฐบาลที่ตั้งเป้า "โค่น" พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลงด้วยประเมินแล้วว่าสถานการณ์ที่รายล้อมผู้นำรัฐบาลนั้น จวนเจียนจะเป็น "มรสุมลูกใหญ่" ที่ซัดเข้าใส่จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องจอดไม่ต้องแจว คงต้องปรับโหมดกันใหม่
ทั้งฝ่ายค้านในสภาฯ ไปจนถึง "กลุ่มการเมือง"ที่พากันเคลื่อนไหว เดินสายกดดันไปตามพรรคร่วมรัฐบาลให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ลามไปถึงกดดันให้ "กองทัพ" เลิกทำหน้าที่ค้ำจุนรัฐบาล ที่นำโดย "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานนปช. ที่มานำทัพกลุ่มคนไทยไม่ทน ก็กลายเป็นบทบาทที่ไร้น้ำหนัก ไม่มีความหมาย
ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว น่าจะพอมองเห็น "คำตอบ" ได้แล้วว่า "แรงเขย่า" ที่พากันร่วมมือนั้นนอกจากจะไม่มีอานุภาพมากพอแล้ว ยังทำให้พล.อ.ประยุทธ์ มองเห็นแล้วว่า "คลื่นใต้น้ำ" ที่แท้จริงแล้ว อยู่ที่ฝั่งตรงข้ามหรือ ข้างตัวนายกฯ ในครม.ด้วยกันเอง !