รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทุกวันนี้หลาย ๆ คน คงจะคุ้น ๆ และผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้วกับคำศัพท์ใหม่ “อินโฟเดมิค” หรือ “Infodemic” ที่มาแรงมากในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหมายถึง การระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง โดยเป็นการผสมคำว่า “อินฟอร์เมชั่น” (Information) ที่ในบริบทนี้แปลว่า “ข้อมูลข่าวสาร” กับคำว่า “แพนเดมิค” (Pandemic) ที่แปลว่า “โรคระบาด” ถ้ามีแต่ข่าวจริง “ไม่มีข่าวปลอม” คงไม่ต้องเขียนบทความนี้ ! “ข่าวปลอม” ในสถานการณ์การแพร่ระบาดหนัก ๆ ของโควิด -19 อาจแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ หมวดสุขภาพ หมวดนโยบายรัฐ และหมวดเศรษฐกิจ ซึ่งมีรูปแบบทั้งวิดีโอคลิป คลิปเสียง และข้อความ ซึ่งสถิติข่าวปลอมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีถึง 50 ล้านข้อความ และผลการตรวจสอบข่าวปลอมในช่วง หนึ่งปีกว่านี้ พบว่าข้อความข่าวหมวดสุขภาพทำสถิติสูงสุดที่ต้องตรวจสอบถึง 5,301 ข้อความ หรือคิดเป็น 54% จากจำนวนข้อความข่าวที่ต้องตรวจสอบทั้งสิ้น 9,755 เรื่อง (ที่มา: ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส) ตัวอย่างข่าวปลอมหมวดสุขภาพ เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ มะนาวโซดาฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ คลิปเสียงหมอศิริราชระบุว่ากินยาเขียวช่วยป้องกันและรักษา โควิด-19 ได้ ฯลฯ อย่าเพิ่งตกใจ ! โปรดติดตามต่อ ... จากจำนวนข้อความข่าวปลอมช่วงโควิด-19 นี้สะท้อนว่าประชาชนคนไทยอ่อนไหวสูงมากกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บางคนต้องการเป็นคนแรก ๆ ของผู้เผยแพร่หรือกระจายข่าวให้เพื่อน ญาติ หรือคนรู้จักรู้ถึงข้อมูลข่าวโควิด-19 ซึ่งหลายข่าวนั้นเป็นข่าวเท็จหรือข่าวปลอม ดังนั้น การเผยแพร่ข่าวสารและการรับรู้ข่าวสารในยุคโควิด-19 ทุกคนต้องมีการกลั่นกรองระดับสูงสุด ซึ่งอาจใช้เทคนิคการคิดอย่างมีวิจารณญาณหรือการคิดเชิงวิพากษ์ หรือง่าย ๆ คือต้องไม่เชื่อเพราะว่าเป็นเพื่อน ครูอาจารย์ หรือคนใกล้ชิด ส่งข่าวหรือแชร์ข่าวมาให้ ด้านการลดจำนวนข่าวปลอมต้องมองที่ “คนสร้าง” และ “คนปล่อย” ข่าวปลอมว่ามีจุดประสงค์อะไร ทำไปโดยเจตนาหรือไม่ ตีความผิดหรือไม่อย่างไร ถ้าหากทำโดยเจตนาต้องหาคนสร้างข่าวและคนปล่อยข่าวมาลงโทษ เพราะข่าวปลอมไม่ว่าข่าวใดก็ตามย่อมส่งผลอันตรายต่อประชาชนและบ้านเมือง และยังสามารถทำลายชื่อเสียงบุคคล องค์กร และประเทศให้เสียหายซึ่งยากต่อการกู้ชื่อเสียงที่ดีกลับคืนมาอีกด้วย ผลของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้การเขียนข่าว สร้างข่าว ผลิตข่าว ทำข่าว และเผยแพร่ข่าวได้เองแบบเบ็ดเสร็จโดยผู้เดียวได้ง่ายมาก ผู้เสพข่าวสารจำเป็นต้องคิดและรู้ให้เท่าทัน “เกมข่าว” ต่าง ๆ ที่เผยแพร่บนโซเชียลทั้งแบบปิดและแบบเปิดจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือผู้เผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง ขณะที่ผู้ผลิตเนื้อหาข่าวก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่นำเอาความสามารถที่มีด้านการทำข่าวมาสร้างคอนเทนต์ข่าวมาเป็นอาวุธก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมหรือบ้านเมือง ซึ่งลำพังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ ผู้บริหารบ้านเมืองก็ซวดเซไปหลายตลบ แล้วยังจะต้องมาแก้ไขปัญหาแฝงที่จะไม่ก่อตัวเป็นปัญหา ถ้ารู้จักคำว่า “รับผิดชอบ” สรุปแบบนี้ ! ถ้าจะให้ดีท่านผู้อ่าน...ต้องสรุปเองละครับว่า...ยุคนี้/สมัยนี้ ข้อมูลข่าวสารแบบไหน? ถึงจะถูกใจเรา ๆ ท่าน ๆ ในยุคที่ต้องผจญภัยโควิด-19 ร่วมกัน ! (คิดออกช่วยบอกทีครับ!)