สมบัติ ภู่กาญจน์
ก่อนจะถึงวันงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ
ผมอยากให้เราคนไทยทุกคน ช่วยกัน อ่าน-แล้วคิด-และพิจารณา บางส่วนของพระบรมราโชวาทเหล่านี้
(ที่มาและรายละเอียดของเรื่องนี้ ผมได้กล่าวถึงเอาไว้แล้วในข้อเขียนตอนก่อน มาถึงตอนนี้ ผมจะขอเริ่มต้นที่บางพระบรมราโชวาท ซึ่งผู้รวบรวมใช้วิธีกำหนดหัวข้อขึ้นก่อน แล้วตามด้วยพระบรมราโชวาท ดังนี้..)
***** *****
การให้ คือเครื่องประสานไมตรี
( หัวข้อนี้ มีพระบรมราโชวาทว่า) “.....คุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย คือการให้”
“การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใดโดยสถานใด ก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม”
( ข้อความไม่กี่ประโยคนี้ อ่าน-แล้วคิด-และพิจารณาดูเถิดครับ ว่าคำสอนสั้นๆง่ายๆอย่างนี้ น่าสนใจเพียงใด ทุกวันนี้เราคำนึงถึงเรื่องของ‘การให้’กันแค่ไหน ใครรู้บ้าง การให้ซึ่งทุกศาสนาในโลกเน้นสิ่งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นให้สิ่งใดแก่ผู้ใดและโดยสถานใด ? เราเคย คิด และพิจารณากันบ้างหรือเปล่า พระบรมราโชวาทนี้เน้นว่าการให้เป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ อ่าน-คิด-แล้วพิจารณาทำสิ่งนี้กันดีไหมครับ? .... หยุด-พัก-คิด แล้วฟังอีกคำสอนกันต่อไปครับ)
***** *****
“ การให้ความรักความเมตตา และมีน้ำใจไมตรี จะทำให้สิ่งที่ทุกคนต้องการ สำเร็จผลได้ดังที่ใจปรารถนา”
(หัวข้อนี้ ผมได้นำมาอ้างถึงไปแล้วในข้อเขียนตอนที่แล้ว เพราะฉะนั้นขอเชิญพิจารณาพระบรมราโชวาทต่อไป)
“มีความรู้ความสามารถ หากไม่ลงมือทำ ก็ไร้ประโยชน์”
(หัวข้อนี้มีพระบรมราโชวาทว่า) – “ ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นก็ด้วยการลงมือทำ เมื่อยังไม่ลงมือทำ ประโยชน์ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมากมายเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำ ก็ปราศจากประโยชน์”
( นี่เป็นคำสอนที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ยุคที่เรามีผู้คนซึ่งมีความรู้และความสามารถท่วมสังคมอยู่ ส่วนจะมีจริงหรือไม่เพียงใด นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนเหล่านั้น จะได้ทำ หรือมีโอกาสได้ทำให้ความรู้ความสามารถนั้นเกิดประโยชน์แก่สังคมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครรู้ ตราบใดที่การลงมือทำ ยังไม่เกิดขึ้น ... พระบรมราโชวาทนี้ ก่อให้เกิดข้อเขียนชิ้นนี้ของผมด้วย ซึ่งผมกราบแทบพระบาทมาด้วยกายและใจก่อนที่จะลงมือเขียน จึงขอนุญาตอ้างถึงไว้ด้วย ก่อนที่จะนำเสนอหัวข้อต่อไปครับ)
***** *****
“ เมื่อมีสติ ก็จะทำแต่สิ่งที่สุจริต และมีประโยชน์ยั่งยืน”
(มีพระบรมราโชวาทว่า) “ความบังคับตนเองนั้น เกิดขึ้นได้จาก ความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือจะเรียกสั้นๆได้ว่า สติ กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลจะทำจะพูดหรือแม้แต่จะคิดถึงเรื่องต่างๆ สติหรือความรู้สึกระลึกได้นั้น จะทำให้หยุดคิดว่าสิ่งที่จะทำนั้นผิดชอบชั่วดีอย่างไร จะมีผลเสียหาย หรือจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อไปในระยะยาว เมื่อบุคคลคิดได้ก็สามารถตัดสินการกระทำของตนได้ถูกต้อง แล้วก็จะกระทำแต่เฉพาะสิ่งที่สุจริต สิ่งที่มีประโยชน์อันยั่งยืน ไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นความผิดเสียหาย ทั้งแก่ตนและส่วนรวม
ความมีสตินั้น จะช่วยให้สามารถศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างละเอียดประณีต คือเมื่อจะศึกษาสิ่งใด ก็จะพิจารณากลั่นกรองสิ่งที่ไม่ใช่ความถูกต้องแท้จริงออกเสียก่อน เพื่อให้ได้มาแต่เนื้อแท้ที่ปราศจากโทษ”
(เพื่อให้ต่อเนื่องกับพระบรมราโชวาทนี้ ผมขออนุญาตต่อไปถึงอีกหนึ่งพระบรมราโชวาท ที่ว่า)
“ อย่ามีอคติ เพราะอคติ ก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ ”
(มีพระบรมราโชวาทว่า) “.....อคติ นั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มองไม่เห็นทาง เพราะลำเอียงเข้าข้างตัว ด้วยอำนาจแห่งความรักบ้าง ความชังบ้าง ความหลงใหลบ้าง เมื่อเกิดอคติแล้วก็จะทำให้สับสนในเหตุและผล ไม่ทำตามเหตุผล เมื่อไม่ทำตามเหตุผล ความผิดพลาดก็ต้องเกิดขึ้น”
นี่เป็นเพียงแค่ พระบรมราโชวาท 5 องค์หรือ 5 หัวข้อ จากต้นฉบับเดิมที่ผู้รวบรวมค้นไว้ได้ถึง 108 พระบรมราโชวาท ที่ทุกพระบรมราโชวาทล้วนแล้วแต่สร้างมงคลให้กับผู้ปฏิบัติได้ทั้งนั้น ถ้าใครจะ อ่าน-แล้วคิด-และพิจารณา ก่อนลงมือทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา
ในวาระที่งานพระราชพิธีฯใกล้จะมาถึง ผมอยากใช้การลงมือทำตามคำสอนเหล่านี้ อย่างจริงจังในการร่วมรำลึกและบูชาถึง “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ” ที่ยังอยู่ในใจของคนทั้งโลกพระองค์นี้ ระลึกว่าคำสอนของพระองค์ยังมีอีกมากมายมหาศาล ที่สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยสังคมไทยหรือชาติไทยได้ทั้งสิ้น
ถ้าเราจะตั้งใจศึกษา แล้วลงมือ‘ทำตามคำสอน’กันให้ได้อย่างจริงจัง ดังที่ผมจะเริ่มต้น เท่าที่(ผมสามารถ)จะทำได้ ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปครับ