ทีมข่าวคิดลึก
การจับสัญญาณทางการเมืองในวันนี้ "นักการเมือง" คงไม่สามารถเงี่ยหูฟังเฉพาะ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.ได้เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป ยิ่งเมื่อเวลานี้มีความชัดเจนว่า "กองทัพ" ที่ยึดโยง ทำหน้าที่ค้ำบัลลังก์ให้กับคสช.คือกลุ่มอำนาจที่มีความสำคัญ และบ่อยครั้งก็เป็น "บิ๊กทหาร" จากเหล่าทัพเองที่ออกมาส่งสัญญาณ ทางการเมืองหลายครั้งหลายครา
ล่าสุดคือการที่ "บิ๊กเจี๊ยบ" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.ออกมาระบุว่าเมื่อภายหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีในเดือนตุลาคมนี้ผ่านพ้นไป
แล้ว คสช.จะได้มาหารือกันว่าจะปลดล็อกพรรคการเมืองกันอย่างไรบ้าง เมื่อวันนี้กฎหมายพรรคการเมืองได้ประกาศมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่าการออกมาปราม "นักการเมือง" ไม่ให้พากันเคลื่อนไหว กดดันไปยัง คสช.เพื่อเรียกร้องให้ คสช.คืนสัญญา ด้วยการยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองไม่ให้ทำกิจกรรมมาแล้วก่อนหน้านี้ จากฝ่ายบิ๊กทหาร อาจดูเป็นเหมือนการ เล่นบท "เข้ม" เพื่อสกัดไม่ให้เกิดกระแสเรียกร้อง เคลื่อนไหวบานปลายออกไปแล้ว ในอีกทางหนึ่ง ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความเข้มแข็งของ "กองทัพ" ที่จะทำหน้าที่เป็น"กลไกอำนาจ" ตัวหลักๆ ให้กับ คสช.ยิ่งนับวัน ต้องยอมรับว่าบทบาทและภารกิจของกองทัพ ในช่วงโค้งสุดท้าย
ของโรดแมป คสช.นั้นยิ่งมีความโดดเด่นและเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ แม้ในเวลาเดียวกัน กองทัพจะต้องเผชิญหน้ากับ"เสียงโจมตี" ที่พุ่งตรงไปกองทัพ ว่าด้วยการจัดซื้ออาวุธ จนสามารถ "ปลุกกระแส" และเรียกแขกให้ ฝ่ายการเมืองหันมาเปิดเกม "ถล่ม" กองทัพชนิดได้น้ำ ได้เนื้อกันมาแล้ว
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะประกาศ วันเลือกตั้งหรือไม่ หรือ คสช.จะยอมให้ไฟเขียวปลดล็อกเปิดทางให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ก็ตามอาจไม่ใช่ "เงื่อนไข" ที่สลักสำคัญ เนื่องจากทุกๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายทหารเองได้เคลื่อนไหว เตรียมรองรับกับทุกสถานการณ์กันมาก่อนล่วงหน้าแล้ว
โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองนั้น แม้เวลานี้จะไม่มีการแบไต๋เปิดตัวว่า "ใคร"จะหนุนฝ่ายไหน หรือเป็น "พันธมิตร"ทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทุกพรรคการเมืองต่างต้องเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องของการจัดสรรตัวบุคคล เพื่อลงสนาม รวมทั้งการตระเตรียม "ทุนรอน" เพื่อใช้ในการเลือกตั้งรอบหน้า
จะมีก็เพียงแต่พรรคเพื่อไทย ที่จะอยู่ในมุมโฟกัสมากกว่าใคร ในฐานะที่วันนี้ไร้หัวขบวน ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาสมาชิกพรรคที่ยังเหลืออยู่มิหนำซ้ำ ยังมีสัญญาณว่า "เจ้าของพรรคตัวจริง" อย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" กำลังจะโดนไล่เช็กบิล ด้วยคดีความเก่าๆ ที่มีอันต้องหยุดสะดุดลงเมื่อ ทักษิณ หนีคดีออกไปอยู่นอกประเทศ ทำให้คดีหลายคดี ไม่อาจเดินหน้าต่อได้
มิหนำซ้ำ ล่าสุดชนักติดหลังเรื่องเก่าที่พัวพันกับคดีหมิ่นสถาบัน ยังทำท่าจะวนเวียนกลับมาเขย่าซ้ำอีกรอบ จนเจ้าตัวต้องออกมาประกาศว่าจะฟ้องร้องใครก็ตามที่นำเขาไปแอบอ้าง แต่ดูเหมือนว่างานนี้ยิ่งดิ้นรน ยิ่งกลายเป็นวัวพันหลัก
เมื่อล่าสุดปรากฏว่า อัยการสูงสุด(อสส.)มีความเห็นควรสั่งฟ้องทักษิณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อเดือน พ.ค.2558 จนทักษิณไม่อาจอยู่นิ่งเฉย ต้องมอบหมายให้ทนายความส่วนตัวเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ขอให้อัยการสูงสุดทบทวนความเห็น
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่"ตกเป็นรอง" เช่นนี้ ยังมาเผชิญกับข้อกล่าวหาที่เปราะบางและรุนแรงว่าด้วยเรื่องของสถาบันนั้น อาจกลายเป็น "จุดตาย" ที่หนักหนา จนทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย บางส่วนต้องหันกลับมา "คิดใหม่" ว่าจะอยู่หรือไปต่อกับพรรคเพื่อไทยในวันข้างหน้า