เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
หกสิบปีตั้งแต่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม วิธีคิดของ “ราชการ” กับ “มหาวิทยาลัย” ดูไม่เปลี่ยน ส่วนใหญ่ยังคิดว่าชาวบ้าน “โง่จนเจ็บ” ที่ต้องไปช่วยเหลือ
การคิดเหมือนเดิมทำเหมือนเดิมเหมือนกับไปซ้ำเติมให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองไม่ได้ ยิ่งพัฒนายิ่งดูเหมือนโง่มากขึ้น จนมากขึ้น เจ็บมากขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น เดินไม่ได้มากขึ้น รอให้รัฐไปอุ้มถึงจะขยับไปไหนได้
หนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัยฟังดูดี ประกาศว่าจะเอาอาจารย์ลงจากหอคอยงาช้าง แต่ไปๆ มาๆ เหมือนลงมาแล้วชักม้าชมเมือง ขี่ช้างชมสวน รัฐมนตรีคิดแต่ไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด ไม่ได้ให้ความสำคัญคงคิดว่าเป็น “งานฝาก” ขนาดเชิญประชุมออนไลน์เพื่อรายงานความก้าวหน้ายังโผล่มาไม่กี่คน
มีชื่อว่า 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล แต่บางมหาวิทยาลัยปูพรมไปกว่า 150 ตำบล รวมแล้ว 3,000 ตำบล จ้างงานตำบลละ 20 คน จ้างไปแล้ว 60,000 คน คนละ 5,000-15,000 บาทต่อเดือน เห็นว่าทางกระทรวงอุดมศึกษาฯ(อว.) กำลังขอขยายอีก 4,000 ตำบลให้ครบทั่วประเทศ
ความจริง อว. มีเป้าหมายดีแต่วิธีการเป็นปัญหา ท้ายที่สุดก็ลงไป “ทำโครงการ” เหมือนที่ราชการต่างๆ เขาทำกันมาหลายสิบปี ไปแย่งเขาทำไมก็ไม่รู้ แล้วจะมีหน่วยงานราชการไว้ทำไม
แทนที่จะคิดว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยน่าจะสร้างฐานความรู้ให้สังคม (knowledge-based society) สร้างสังคมความรู้ สังคมเรียนรู้ บทบาทหน้าที่ที่ทำได้ดีที่สุด ที่คนอื่นทำแทนไม่ได้ ไม่ใช่ลงไปทำงานพัฒนาแบบฉาบฉวย เพียงเพราะได้ข้อมูลจากที่ไปถามชาวบ้านว่า “มีปัญหาอะไร ต้องการอะไร”
งานนี้เชื่อว่า เมื่อ “เงินหมดก็เลิก” กลับเข้ามหาวิทยาลัย ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญชะตากรรมเดิมต่อไป ไม่ได้มีอะไรที่มั่นคงยั่งยืน เป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นฐานเพื่อการพัฒนาอะไร
ให้นักศึกษาไปหาข้อมูล ไปทำข้อมูลชุมชน ส่วนใหญ่คงไปลอกมาจากบ้านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. เทศบาล ไปถามผู้นำชุมชน ถามพระ ถามชาวบ้านไม่กี่คน จนชาวบ้านหลายแห่งบ่น “รำคาญ” แทนที่จะใช้เครื่องมือมากมายหลายชนิดทางวิชาการที่ช่วยให้ทำข้อมูลชุมชนโดยละเอียดทุกครัวเรือน เป็นฐานเพื่อนำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปช่วยชาวบ้านจัดการผลิต เครือข่าย การตลาด ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รัฐบาลวางแผนวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นสังคม 4.0 คนที่ควรถือธงนำหน้าคือกระทรวงอุดมศึกษาฯ คืออาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัย ที่ควรปรับเปลี่ยนเมืองไทยที่เหมือนร้าน “โชห่วย” ให้เป็น “โมเดิร์นเทรด” เป็นห้างเป็นการค้าออนไลน์ที่ต้องใช้ข้อมูลมหาศาลเพื่อจัดการ “สินค้า” ให้ถึงมือลูกค้าผู้บริโภค
แต่เราก็ยังคงเป็น “เมืองไทยโชห่วย” กันต่อไป ที่ใช้ข้อมูลจดลงกระดาษ ยังเป็นแบบอะนาล็อก ไม่รู้จักดิจิทัล เราถึงมีดราม่ามากมายในการบริหารจัดการบ้านเมือง เอาแค่เรื่องโควิดและวัคซีนก็เห็นแล้วว่า สังคมที่ไม่จัดการบนฐานข้อมูล big data นั่นวุ่นวายเพียงใด
ถึงต้องมีรายการแจกแถมชื่อพิสดารออกมาเรื่อยๆ เราชนะ คนละครึ่ง ฯลฯ ปล่อยให้คนไม่มีสมาร์ทโฟนต้องอดหลับอดนอนไปเข้าคิวรอลงทะเบียนหน้าธนาคาร เมื่อภาพสองตายายออกไปทางสื่อน้อยใหญ่ คนไทยทนไม่ได้ “ประชด” ส่งเงินไปช่วยคนแก่สองท่านนี้ แทนที่จะได้ 7,000 บาท เห็นว่าได้ 7,000,000 บาท
ถ้าหากกระทรวงอว.ทำงานปีแรกให้ได้ข้อมูล big data ของสังคมไทยก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะวันนี้สังคมไทยไม่มีข้อมูลที่ว่านี้จริง เพราะข้อมูลที่ระบบราชการทำไว้ถ้าดีจริงคงไม่เกิดปัญหาในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ยังเป็นแบบอะนาล็อกเช่นนี้
ชอบยกตัวอย่างเมืองจีนกันนักว่า ที่เขาแก้ปัญหาความยากจนของคนหลายร้อยล้านได้จริงเพราะเขามีข้อมูลทุกครัวเรือน ชมเขาแต่ไม่ทำ ทั้งๆ ที่ทำได้ บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยรู้วิธีการกันทั้งนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าทำตามแนวคิดดั้งเดิมของ (รัฐมนตรี) อว.ได้หรือไม่เท่านั้น
ขอสรุปว่า ถ้ารัฐบาลจะเอาภาษีประชาชนไปใช้ในโครงการนี้อีก ขอเสนอในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่งว่า ขอให้มี 3 กรอบใหญ่ 3 เงื่อนไขให้งบประมาณใหม่ของอว. คือ
1.ให้ทำ big data จริง ทำให้ครบทุกครัวเรือน ทุกด้านให้เป็นฐานการพัฒนา ฐานการบริหารจัดการบ้านเมือง ฐานการพัฒนายุทธศาสตร์ (ใหม่) เพราะยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่ “ของประชาชน”
2.ให้ bottom up คือมาจากข้างล่าง โครงการที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำข้อมูล สร้างกระบวนการเรียนรู้และการทำข้อมูลเพื่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ ที่นำไปสู่ข้อที่สาม
3.ให้มียุทธศาสตร์พัฒนาตำบลของชุมชน (community strategic plan) ที่มาจากกระบวนการทำข้อมูลทำแผน โดยไม่อ้าง (แก้ต่าง) ว่า อบต.เทศบาลมีแผนของเขาอยู่แล้ว ไปทำอะไรไม่ได้ เพราะโครงการนี้รัฐบาลอนุมัติบอกว่าให้เป็นโครงการบูรณาการเชิงระบบ (systemic integrator)
ถ้าจะบูรณาการเชิงระบบจริงก็ควรหาวิธีทำให้เกิดจริง ไม่ใช่เขียนให้ดูหรูเท่านั้น ควรต้องหาวิธีทำให้เกิดยุทธศาสตร์ร่วม (common strategy) ไม่ใช่เพียงแต่ทุกคณะ ทุกภาควิชาในมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกันทำแบบบูรณาการ แต่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มหาดไทยต้องให้อปท. “บูรณาการ” ด้วยอย่างจริงจัง
ถ้ามียุทธศาสตร์ร่วมจริง ต้องนำเอา “ทุน” ทั้งหมดในชุมชนรวมกัน ไม่ว่าทุนคน ทุนทรัพยากร ทุนงบประมาณแผ่นดิน ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ big data เพื่อให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ “เป็นตัวเชื่อม” (catalyst) และ “ตัวประสาน” เครือข่าย (networking) และที่สุดทำหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ของตำบล (learning facilitator) ไม่ใช่ทำตัวเป็น “นักพัฒนาฉาบฉวย”
ถ้าปรับโครงการไม่ได้ มหาวิทยาลัยตายแล้วจริง แปลว่าเรามาถึงยุคที่ต้องเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด โดยเปิด “มหาวิทยาลัยแบบโมเดิร์นเทรด” แล้วปิด “มหาวิทยาลัยแบบโชห่วย”