เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มี 9 มาตรา สาระให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อ 1.แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2.เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ3.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบัญชีท้ายพ.ร.ก.รวมวงเงินกู้ทั้งหมด ต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา สถานการณ์ COVID-19 ได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์การขยายตัว GDP ปี 2564 ของไทยไว้ที่ 1.5% – 2.5% รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหามีจำกัดและไม่เพียงพอ อีกทั้ง ถือเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงได้มีการตรา พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของ COVID-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นวิกฤติของประเทศได้อย่างต่อเนื่องกับมาตรการที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนภายหลังจากการระบาดของ COVID-19 บรรเทาหรือยุติลง ทั้งนี้ กรอบวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของ COVID-19 ระลอกใหม่ได้อย่างต่อเนื่องกับ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 โดยคาดว่าการดำเนินโครงการหรือแผนงานภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564–2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 จากกรณีฐาน ก่อนมีการตรา พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับพ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาทนั้น เป็นเงินกู้ที่เตรียมไว้ใช้ในช่วงปี 2565 ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่มีความไม่แน่นอน อาจจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกครั้งได้ ให้เกิดประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่ใช้ในยามฉุกเฉินได้ กระนั้นก็ตาม เราเห็นว่า เงินกู้ดังกล่าวมีความจำเป็น หากแต่การใช้จ่ายต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ทุกบาททุกสตางค์