ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1/2564 พบการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นผู้ว่างงาน7.6 แสนคน สูงกว่า ไตรมาสก่อนที่การว่างงานอยู่ที่ 1.83% โดยการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผลกระทบ จากโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังสะท้อนผ่านชั่วโมง การทำงานรวมต่อสัปดาห์ลดลงเหลือ 40.1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องกัน 6 ไตรมาส โดยกลุ่มอาชีพที่มีการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ ลดลงต่อเนื่องมากที่สุดคือกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน นอกจากนี้จำนวนแรงงานที่ว่างงานติดต่อกันมากกว่า 1 ปีแล้วยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น จากประมาณ 8.1 หมื่นคนในไตรมาสก่อน เป็น 8.85 หมื่นคนในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ส่วนการจ้างงานในช่วงไตรมาสที่ 1/2564 พบว่ามีการขยายตัวเล็กน้อย หรือเพิ่มขึ้น 0.4% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคเกษตรตามภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวยังหดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังมีความกังวลว่าตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอรองรับเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาคธุรกิจได้รับผล กระทบต่อเนื่อง อาจไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะจ้างแรงงานใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการจ้างงานของเด็กจบใหม่กว่า 4.9 ล้านคน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมแนวทางในการช่วยเหลือในประเด็นนี้แล้ว ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ อ้างผลการสำรวจของ Challenger, Gray & Christmas Inc. ระบุว่า 5 ทักษะที่บริษัทและนายจ้างมีความต้องการมากที่สุดในปีนี้ คือ1. ทักษะ UX Design คือ งานด้านออกแบบเว็บไซต์และดิจิทัล ทักษะนี้ยังเป็นที่ต้องการทั้งในปีนี้และในอนาคตข้างหน้า ทำหน้าที่ค้นคว้าหาข้อมูลและทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้งาน 2. ทักษะการคำนวนทางวิทยาศาสตร์ เป็นทักษะที่มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงสามเท่า หลายบริษัทมีความต้องการมืออาชีพในด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาเป็นโมเดล Machine Learning หรือการวิเคราะห์ Big Data 3. การวิเคราะห์เชิงตรรกะ คือ ทักษะความสามารถในการเชื่อมโยงตัวแปร การย่อยปัญหาหรือระบบที่ซับซ้อนออกเป็นส่วนเล็ก ๆ และใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด แก้ไข เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น บริษัทที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์เชิงตรรกะ จะกลายเป็นผู้ที่แข็งแกร่งกว่าผู้แข่งขันรายอื่น ๆ 4. การตัดต่อวิดีโอ ปัจจุบันการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปของผู้ซื้อ จากข้อความ รูปภาพ เป็นภาพเคลื่อนไหว หรือเนื้อหาในรูปแบบวีดีโอ ทำให้วิดีโอกลายเป็นสื่อชิ้นสำคัญที่บริษัทกำลังให้ความสนใจ ทักษะการตัดต่อวิดีโอจึงเป็นที่ต้องการมากในตลาดเช่นกัน 5.Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คือการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์มีพฤติกรรมและความสามารถคล้ายมนุษย์ สามารถคิดเองได้ และเรียนรู้ที่จะฉลาดได้ด้วยตัวมันเอง ปัจจุบัน AI ถูกพัฒนามาใช้ทำงานแทนมนุษย์ในหลายตำแหน่งงาน ช่วยลดปัญหาและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ คนที่สามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI กับงานได้ จึงได้รับความสนใจจากบริษัทต่าง ๆ เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมบุคคลากรเพื่อรองรับตลาดแรงงาน ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่แก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ควรพิจารณาสนับสนุนในการเพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงาน การเปิดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปหางานได้จริงในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล