มากไปกว่าการแสดงบทบาท "มือตรวจสอบ" ในการทำหน้าที่ ของ "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ผ่านเวทีสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 แล้วยังต้องจับตาด้วยว่า พรรคฝ่ายค้าน พรรคไหน จะสามารถ "ชิงบทนำ" ได้เหนือชั้นกว่ากัน !
ในห้วงเดือนพ.ค.นี้ นับตั้งแต่ปลายเดือนเป็นต้นไป จะเป็นจังหวะเวลาที่ต้องเรียกว่า "ทางสะดวก" สำหรับ พรรคฝ่ายค้านก็คงไม่ผิดนัก เมื่อเวทีสภาฯจะถูกแปรเปลี่ยนไปสู่ "สมรภูมิรบ" ขนาดย่อมๆ
ด้วยเหตุที่ รัฐบาลจะต้องนำร่างกฎหมายสำคัญด้านการเงินมาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ซึ่งถือเป็นกฎหมายด้านการเงินของรัฐบาล
หากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบได้ จะส่งผลให้รัฐบาลถึงขั้น จอดไม่ต้องแจว นั่นคือหากร่างกฎหมายงบประมาณฯไม่ผ่าน รัฐบาลต้อง "ลาออก" หรือ "ยุบสภา" !
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ถึงอย่างไร "ฝ่ายรัฐบาล" พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค จะไม่เลือกสถานการณ์เช่นนี้เพื่อ "เปิดศึก" กันเองจนถึงขั้นแตกหัก ไม่ว่าจะเป็น "พรรคประชาธิปัตย์" หรือ "พรรคภูมิใจไทย" ที่อยู่ในภาวะระหองระแหงกันกับพรรคพลังประชารัฐ แต่อย่าลืมว่านี่ยังไม่ถึงเวลา "ปิดเกม" ด้วยการยุบสภาฯหรือลาออก ฉะนั้นต่างฝ่าย ต่างจะต้องกอดคอทู่ซี้อยู่กันไปเช่นนี้
แต่สำหรับพรรคฝ่ายค้าน เองกลับน่าสนใจไม่น้อย แม้ภาพเบื้องหน้าคือการจับมือกันถล่มรัฐบาล โดยเฉพาะ "3ป." ทั้ง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะ "หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ" และ "ผู้จัดการรัฐบาล" รวมทั้ง "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้บอบช้ำที่สุดทั้งในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 หรือลากยาวไปจนถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่ลงมติ ตามที่ "พรรคเพื่อไทย" เคยออกมาส่งสัญญาณเอาไว้ก่อนหน้านี้
ทว่าขณะเดียวกันยังต้องไม่ลืมว่านี่คือโอกาสทอง โอกาสสำคัญของแต่ละพรรคที่จะสร้างแต้มต่อของตัวเองเพื่อรองรับกับ "การเมืองนอกสภาฯ" ไม่ว่าจะเป็นการรุกไล่รัฐบาล รอบใหม่ ไปจนถึงการสำแดงผลงานเพื่อกวาดคะแนนนิยม เอาไว้รับมือกับการเลือกตั้งสนาม กทม. การเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." ซึ่งน่าสนใจว่าทุกพรรคการเมือง ต่างไม่มีใคร ยอมใคร
รวมทั้งการเลือกตั้งสนามใหญ่ การเลือกตั้ง ส.ส.ที่อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่จนครบวาระในปี 2566
บทบาทที่พรรคเพื่อไทย ต้องดำเนินนั้นย่อมต้องรักษาเอาไว้ถึงความเป็น "พรรคแกนนำฝ่ายค้าน" แล้ว ในอีกทางหนึ่งยังจำเป็นที่ต้องแสดงพลังในฐานะ พรรคการเมืองที่มีความยึดโยงกับ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ เพื่อรักษาที่นั่งส.ส.เอาไว้ในสภาฯให้มากที่สุดในการเลือกตั้งรอบหน้า
ด้วยลึกๆแล้วสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยนั้นใช่ว่าไม่น่าเป็นห่วง แม้ อดีตนายกฯทักษิณ จะอาศัยการเคลื่อนไหวผ่านโลกโซเชี่ยล อยู่เป็นระยะๆ แต่ใช่ว่าจะมีมนต์ขลังเหมือนในอดีต มากพอที่จะไม่ทำให้พรรคอยู่ในสภาพที่เรียกว่า "แพแตก" เมื่อการเลือกตั้งรอบหน้าเกิดขึ้น
ขณะที่พรรคก้าวไกลเองก็ต้องใช้เวทีสภาฯรอบนี้ให้ "คุ้มค่า" มากที่สุดเหมือนกับที่เคย "ฝากผลงาน" เอาไว้เมื่อครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนทำให้เก้าอี้รัฐมนตรี ของ "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" รมช.เกษตรฯและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต้องสะเทือนมาแล้ว
มารอบนี้ พรรคก้าวไกลยังต้องเร่งสร้างผลงาน ให้ปรากฎเพื่อเก็บแต้มต่อทางการเมืองไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ ก็เป็นพรรคก้าวไกลเองที่แม้เป็นพรรคน้องใหม่แต่มีความโดดเด่นเหนือพรรคเพื่อไทย จนนำไปสู่ "การปีนเกลียว" บาดหมางกันเล็กๆมาแล้ว
การเคลื่อนไหวของสองพรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในรอบนี้ แน่นอนว่า คงไม่ใช้แค่เวทีในสภาฯเพื่อรุกไล่รัฐบาล เท่านั้น แต่ต่างฝ่ายต่างยังมี "กำลังเสริม"อยู่ข้างนอก ที่พร้อมเปิดปฏิบัติการ "ซักฟอกนอกสภาฯ" ด้วยเหมือนกัน แต่ที่สุดแล้ว อยู่ที่ว่า ใครจะเป็นฝ่าย แย่งซีนได้มากกว่ากัน !?