ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
สรรพคุณหรือคุณค่าสำคัญประการหนึ่งที่ดำรงอยู่ในเรื่องราวเกี่ยวกับไม้กฤษณา คือการเป็นไม้มงคลตามความเชื่อทางศาสนาทั้งพุทธและอิสลาม และมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาสกัดเป็นยาสมุนไพรนานาชนิด นอกจากนี้ การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำมาเป็นหัวเชื้อทำน้ำหอมคุณภาพสูง สนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง และยุโรป ศูนย์กลางของน้ำหอมโลก
มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาทางพุทธศาสนาว่า เมื่อแรกประสูติ พระหัตถ์ขององค์ศาสดาข้างหนึ่งถือ “ดอกบัว” อีกข้างหนึ่งถือ “ไม้กฤษณา” ทำให้เชื่อกันมาแต่ครั้งโบราณกาลว่า ดอกบัวเป็นดอกไม้มงคล หากนำไปถวายพระสงฆ์หรือกราบไหว้สักการบูชาพระพุทธเจ้าจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ส่วนไม้กฤษณาก็ถือเป็นไม้มงคลป้องกันภูตผีปีศาจไม่ให้กล้ำกลายได้ ผู้เข้าไปหาของป่าหากไปนอนค้างแรมอยู่ใต้ต้นกฤษณา สิงสาราสัตว์จะไม่เข้ามารบกวนให้ได้รับอันตราย บางคนนำไม้กฤษณาปลูกไว้ในบ้านหรือในสวนเพื่อให้เป็นสิริมงคล ป้องกันผีสางนางไม้เข้ามาในบ้าน และทำเป็นธูปจุดบูชาพระและประกอบพิธีต่างๆ ทางศาสนา รวมถึงการนำไปเป็น “ยาสมุนไพร” รักษาโรค
ย้อนไปสมัยพุทธกาลมีหลักฐานปรากฏชัดว่า ในพิธีสำคัญต่างๆ มักมีการใช้ “จตุชาติสุคนธ์” คือ ของหอมธรรมชาติ 4 อย่าง ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กะลำพัก จันทน์ และดอกไม้ เพื่อประพรมระหว่างการประกอบพิธี เช่น พระราชพิธีมงคลถวายพระนามเจ้าชายสิทธัตถะช่วงปฐมวัย ตอนเหล่ากษัตริย์มัลลราชโปรดให้ตกแต่งและประพรมพื้นโรงราชสัณฐาคารด้วยจตุชาติสุคนธ์ เพื่ออัญเชิญพระหีบทองน้อยที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเข้าประดิษฐาน หรือในตอนมหาภิเนษกรมน์ กล่าวถึงการประดับพระแท่นบรรทมพระพุทธองค์ด้วยพู่พวงสุคนธ กฤษณา อีกด้วย
ระหว่างพุทธศักราช 942-957 พระภิกษุฟาเหียน ออกเดินทางจากเมืองจีนไปแสวงหาพระคัมภีร์ไตรปิฎกในประเทศอินเดียและสิงหล มีการบันทึกในจดหมายเหตุ กล่าวถึงการฌาปนกิจศพพระอรหันต์องค์หนึ่งโดยถูกต้องตามแบบธรรมเนียมในพระวินัย มีการสร้างกองฟืนขนาดใหญ่มีส่วนกว้างและส่วนสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว่า 30 ศอก บริเวณใกล้ยอดมีการวางลำดับด้วยไม้จันทน์หอม ไม้กฤษณา และไม้ชนิดที่มีกลิ่นหอมชนิดอื่นๆ
สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม หลักทางศาสนาที่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนประการหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ชาวมุสลิมดื่มสุราและใช้เครื่องสำอางหรือน้ำหอมที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ให้ใช้เครื่องสำอางและน้ำหอมที่ผลิตจากสมุนไพรเท่านั้น “น้ำหอมกฤษณา” จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องการของโลกมุสลิม เนื่องจากสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำหอม แป้งทาหน้า และเครื่องประทินผิวอื่นๆ อีกหลากหลายประเภท นอกจากนี้ ชาวมุสลิมแถบตะวันออกกลางที่มีฐานะดี นิยมปรุงแต่งผิวกายด้วยน้ำหอมจากไม้กฤษณา เพื่อให้เป็นกลิ่นหอมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ที่สำคัญและทรงความหมายยิ่งสำหรับชาวมุสลิมทั้งโลก มาจากประโยชน์ที่ได้จากกฤษณาไปใช้ประกอบในพิธีทางศาสนาอิสลาม ณ นครมะดีนะฮ์ และเมืองเมกกะ ส่วนประเทศแถบยุโรปซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำหอมรายใหญ่ของโลก ใช้น้ำหอมจากไม้กฤษณาเป็นหัวเชื้อผสมน้ำหอมที่ผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย
นอกจากนี้แล้ว ในแง่มุมการใช้ประโยชน์จากกฤษณาในทางยา มีหลักฐานว่าคนไทยรู้จักใช้มานานแล้ว ดังปรากฏในตำรายาพระโอสถสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2202 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากฤษณาหลายชนิด เช่น
“มโหสถธิจันทน์นั้นเอาสมุลแว้ง ดอกมะลิ สารภี พิกุล บุนนาค เกสรบัวหลวง เกสรสัตบงกช จันทน์ทั้ง 2 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก แฝกหอม ตะนาว (ชื่อกระแจะเครื่องหอม) เปราะหอม โกฐหัวบัว เสมอภาค น้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำซาวข้าว น้ำดอกไม้ ก็ได้ รำหัดพิมเสนชโลม ถ้ากินแรกขัณฑสกรลงด้วย แก้พิษไข้สันนิบาต อาการตัวร้อนหนัก สรรพไข้ทั้งปวงหายสิ้นแลฯ” หรือใน “ตำรายาทรงทาพระนลาต แก้พระโลหิตกำเดา อันประชวรพระเจ้านัก ให้เอา กฤษณา อบเชยเทศ รากมะลิ รากสลิด รากสมี ชะมด ลดด้วยน้ำดอกไม้เทศ น้ำดอกไม้ไทยก็ได้ รำหัดพิมเสนลง ทรงทาหายแลฯ” เป็นต้น ส่วนตำราพระโอสถรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2355 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากฤษณาหลายชนิด เช่น ยาชื่อมหาเปราะแก้พิษลมซางทั้ง 7 จำพวก เข้ายากำลังราชสีห์ กินบำรุงโลหิต หรือเข้ายาชื่อแดงใหญ่ แก้สรรพต้อมีพิษ แก้จักษุแดง ฯลฯ
ตำรายาสมัยต่อมา ปรากฏตำรายาที่เข้ากฤษณาอีกมากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่มีส่วนผสมของกฤษณาทั้งสิ้น ตราบกระทั่งปัจจุบัน มีตำรายาที่เข้ากฤษณาอยู่หลายชนิด เช่น ยากฤษณากลั่นตรากิเลน ใช้บำบัดอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่น หรือยาหอมที่เข้ากฤษณาก็มีอยู่หลายขนาน มีสรรพคุณ คือ ใช้แก้ลม วิงเวียนจุกเสียด หน้ามืดตาลาย คลื่นเหียน อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ขับลมในกระเพาะลำไส้ บำบัดโรคปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เป็นต้น เช่น ยาหอมสุคนธโอสถตราม้า ยาหอมตรา 5 เจดีย์ ยาหอมทูลฉลองโอสถ ยาหอมตราเด็กในพานทอง ยาหอมหมอประเสริฐ ส่วนตำราจีน กฤษณาจัดเป็นยาชั้นดี มีสรรพคุณมากมาย รวมถึงการนำกฤษณาไปผลิตยารักษาโรคกระเพาะที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง คือ “จับเชียอี่”
พิจารณาคุณค่าทางใจและคุณประโยชน์เชิงสมุนไพร ไม้กฤษณาจึงเปี่ยมด้วยคุณค่าเป็นยิ่ง ทว่าสิ่งที่น่ากังวลกลับกลายเป็นว่า ไม้กฤษณากำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ด้วยความโลภ ความไม่เข้าใจ หรือการแย่งชิงทรัพยากรของมนุษย์ที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง ผิดกับสมัยโบราณ ในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศล้วนเต็มไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่มีค่า ผู้คนยังมีจำนวนไม่มาก ทำให้การแสวงหาสิ่งของตามธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ไม้กฤษณา” เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แต่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงไปมาก ไม้กฤษณาจึงเปรียบประหนึ่งเป็นเรื่องราวที่ลึกลับ ซับซ้อน กลายเป็นโลกของคำถามและผลประโยชน์ทับซ้อนมหาศาล ทั้งที่ความต้องการเครื่องหอมที่มีส่วนผสมของน้ำมันกฤษณามีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มตลาดชาวมุสลิมทั่วโลกซึ่งมีอยู่กว่า 2 พันล้านคน เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาร์เรน ฯลฯ
โอกาสเรื่องการทำไม้กฤษณาจึงน่าสนใจในเชิงการตลาด หากทว่าช่วงที่ผ่านมากลับมีเรื่องราวไม่ชอบมาพากลมากมายปรากฏ นำไปสู่การลักลอบตัดไม้หาแก่นกฤษณา การปล้นชิงหรือทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ “โลกของไม้กฤษณา” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นเรื่องลึกลับต่อไป แทนที่จะก่อประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น