ณรงค์ ใจหาญ
เป้าหมายของการพัฒนาประเทศไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในยุคที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการบริการต่าง ๆ รวมถึงการนำมาใช้เพื่อให้บริการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้าใช้แทนกำลังคนในบางส่วนของงาน และการเพิ่มผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้านสำหรับงานนั้นๆ ในการพัฒนาประเทศดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักนิติศาสตร์ว่า บทบาทของนักนิติศาสตร์ จะเข้ามาดำเนินงานในฐานะเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การดำเนินคดี และการออกกฎ ระเบียบต่างๆ ในสังคมไทยยุค 4.0 ที่ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ การเดินทาง การขนส่ง และติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีลักษณะอย่างไร การเรียนการสอนกฎหมายต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไร
ในด้านกฎหมาย การออกกฎหมายมีหลักการเปลี่ยนไปจากเดิม อันเนื่องมาจากบทบัญญัติของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่วางกรอบการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนว่า จะต้องไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนจนเกินควร การจะกำหนดเงื่อนไขให้ภาคเอกชนต้องขออนุญาตก่อนการดำเนินการต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ส่วนการกำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายควรใช้มาตรการบังคับทางปกครองมากกว่าการใช้ มาตรการลงโทษทางอาญา และการกำหนดโทษทางอาญาจะต้องกระทำเฉพาะกรณีที่เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น กรอบของกฎหมายที่มาตรา 77 วางไว้นี้ เท่ากับว่า องค์กรที่รับผิดชอบในการเสนอกฎหมาย พิจารณากฎหมายและออกกฎหมายจะถือหลักการในมาตรานี้ เพื่อกลั่นกรองว่ากฎหมายใดควรออกมาหรือไม่ และกฎหมายที่ออกมาจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิต การดำเนินกิจกรรมภาคเอกชน จนเกินสมควร จึงถือได้ว่าเป็นการลดการออกกฎหมาย และลดการกำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิดอาญา ไปในคราวเดียวกัน (de-legalization and de-criminalization) อีกทั้งหากมีความจำเป็นต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานภาครัฐ การพิจารณาคำขอจะต้องกำหนดระยะเวลาของการพิจารณาได้อย่างชัดเจน เพื่อทำให้ผู้ยื่นคำร้องทราบได้ว่าเขาควรได้รับคำตอบว่าได้รับอนุญาตภายในเวลาใด ซึ่งทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ยุคไทยแลนด์ 4.0 มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
ข้อท้าทายของนักนิติศาสตร์ที่จะต้องปรับเปลี่ยน เช่น เดิมหากนักธุรกิจต้องการทำสัญญากับคู่ค้า จะมาขอให้นักนิติศาสตร์ร่างสัญญา ตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ นักนิติศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและภาษาต่างประเทศ จะเป็นที่ต้องการของลูกค้าเหล่านี้ แต่ในปัจจุบันมีการรวบรวมแบบของสัญญามาตรฐานและที่เป็นสัญญาที่ดีที่สุดไว้ในคอมพิวเตอร์ จึงสามารถนำแบบของสัญญาดังกล่าวมาร่างสัญญาให้ได้ด้วยความรวดเร็ว ในทำนองเดียวกัน การเตรียมคดี เพื่อยื่นฟ้องหรือคำให้การหรือเตรียมข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่ดำเนินการในศาล นักนิติศาสตร์ สามารถสืบค้นคำพิพากษา ความเห็นของนักกฎหมาย รวมถึงงานวิจัยต่างๆ รวมถึงแบบคำฟ้อง คำให้การที่ดี ได้จากระบบคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปค้นในห้องสมุดหรือเปิดหาคำวินิจฉัยของศาลไทยหรือศาลต่างประเทศ การสืบค้นข้อมูลทำได้รวดเร็ว นักนิติศาสตร์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายจึงต้องมีทักษะที่สามารถใช้และสืบค้นข้อมูลได้จากระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี แต่ที่จะทำงานได้ดีต่างกันคงเป็นทักษะในการวิเคราะห์ และนำเสนอความเห็น หรือข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ด้วยเหตุนี้ นักนิติศาสตร์ในยุค ไทยแลนด์ 4.0 จึงต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูลในด้านกฎหมาย การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำเสนอที่เป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการมีพื้นฐานทางด้านภาษาต่างประเทศที่สามารถติดต่อกับคนชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ หรือประกอบกิจการทางด้านบริการในประเทศไทยด้วย
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนี้แม้จะก่อให้เกิดความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร การค้นข้อมูล และประหยัดเวลาในการให้บริการ แต่ในทางลบ พวกที่ต้องการหาประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีก็มีอยู่มากพอสมควร อาทิเช่น การพนันออนไลน์ การเผยแพร่หรือค้าสินค้าผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็น สิ่งลามก ยาหรือเครื่องอุปโภคบริโภคที่ต้องห้าม การส่งเงินทางระบบอินเทอร์เน็ต หรือการใช้เงิน bitcoin เป็นต้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพราะบางกรณียังไม่มีกฎหมายเข้ามากำกับดูแล ในทำนองเดียวกัน การก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือการทำนิติกรรมทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเปลี่ยนมาจากการส่งเป็นกระดาษหรือจดหมายมาเป็นการส่งทาง e-mail , facebook หรือ line เป็นต้น จะเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่ามีการทำนิติกรรมจริงและมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงกระบวนพิจารณาในการสืบพยานในคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีปกครองต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่จะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เห็นว่า กฎหมาย และนักนิติศาสตร์ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย คงต้องกลับมาทบทวนตั้งแต่กฎเกณฑ์ของกฎหมายว่า กฎหมายในยุคปัจจุบันเป็นอุปสรรค หรือไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมแบบใหม่นี้หรือไม่ และหากเป็นอุปสรรคจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ซึ่งต้องมีงานศึกษาวิจัย และนำเสนอแนวทางแก้ไขให้แก่รัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไป
ในด้านนักนิติศาสตร์ ต้องยอมรับว่า นักกฎหมายที่เป็เนกำลังสำคัญเป็นหัวหน้าหน่วยงาน เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือเป็นผู้ตัดสินคดีความต่างๆ เป็นนักกฎหมายที่อยู่ในยุคที่ไม่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ความคุ้นเคยและความเข้าใจในระบบเทคโนโลยี จึงมีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นแก่ท่านเหล่านี้ เว้นแต่ท่านเหล่านั้นจะอยู่ในแวดวงของการใช้เทคโนโลยีก็จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้การสร้างความเข้าใจและการนำเทคโนโลยีไปใช้ในหน่วยงานและการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้การบริหารกระบวนการยุติธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบุคลากรที่ดำเนินงานเข้าใจสาระของเทคโนโลยีดังกล่าว
กลับมาที่สถาบันทางการศึกษานิติศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตออกไปทำงานในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคบริการต่างๆ ความเข้าใจของนักศึกษาที่เข้าศึกษาในด้านเทคโนโลยี น่าจะดีกว่าในยุคก่อนๆ เพราะเป็นคนในรุ่น Gen Y Gen Z ในขณะที่เนื้อหาการเรียน การสอนเกี่ยวกับกฎหมายยังอยู่ในยุคเดิมๆ เนื้อหาและวิธีการสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนที่จะผลิตนักนิติศาสตร์ ให้คิดเป็น คิดได้ และวิเคราะห์กฎหมายได้ การเรียนการสอนในชั้นเรียน จึงไม่ใช่การนำเสนอข้อมูลกฎหมายหรืออธิบายเนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักเพราะข้อมูลเหล่านี้ นักศึกษาสามารถสืบค้นและหาได้จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ในห้องเรียนควรมีการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำเสนอความคิดเห็นทางกฎหมายเพื่อให้นำกฎหมายมาใช้ได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึง การนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมาศึกษา นอกเหนือจากข้อเท็จจริงหรือตัวอย่างที่ได้จากคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในอดีตแต่เพียงอย่างเดียว การพัฒนาการเรียนการสอน ทั้งผู้เรียนให้มีการใช้กฎหมายอย่างวิเคราะห์ และเป็นธรรม มีจริยธรรมในการนำกฎหมายมาใช้ รวมถึงการพัฒนาผู้สอนให้สามารถนำพานักศึกษาให้สามารถคิดเป็น วิเคราะห์ได้ จึงเป็นแนวทางในการผลิตนักนิติศาสตร์ ให้ออกมาเพื่อทำงานให้กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป