องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า วัคซีนต้านโควิดที่ผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกแล้ว สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีวัคซีนจาก 5 บริษัทที่ได้รับการรับรองจากอนามัยโลก ได้แก่ ไฟเซอร์ /ไบออนเทค โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และซิโนฟาร์ม อย่างไรก็ตาม เสียงเตือนจาก อาจารย์แพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทย อย่าง นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ระมัดระวังการแพร่ระบาดของ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 ที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศมาเลเซียจะเข้ามาสู่ประเทศไทย เนื่องจากสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่อยู่ในมาเลเซีย เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ทว่าสุดท้ายปราการที่ตอนใต้ก็แตก ไม่สามารถที่จะป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวได้ เมื่อมีการพบ “คลัสเตอร์ตากใบ” ต้นตอจากชายที่มีไทม์ไลน์ชัดเจนว่า ติดมาจากมารดา ภรรยาและบุตร ชาวมาเลเซียที่ลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และเดินทางกลับมาเลเซียไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แม้ปัจจุบันทั้งหมดจะรักษาหายแล้วก็ตาม โดยที่จังหวัดนราธิวาส ตากใบ พบติดเชื้อใหม่ 12 รายเกี่ยวข้องกับการพบสายพันธุ์แอฟริกาพบแค่ 3 คน ติดเชื้อโควิดกระจายไปทั้งหมด 83 ราย อ.ตากใบ 81 ราย อ.สุไหงโกลก 1 ราย อ.แว้ง 1 ราย จากกรณีดังกล่าว ทำให้มีการปิดพื้นที่หมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน ไม่ให้มีการเข้า-ออก ทำการสอบสวนโรค พบว่ามีผู้สัมผัสเพิ่มเติม พบมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 698 ราย ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 160 ราย และให้อยู่ในมาตรการกักกันโรค ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศปก.ศบค. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. ได้ขอให้เพิ่มมาตรการ 2 ระดับ คือ 1.ผู้ที่ทำหน้าที่ตามแนวชายแดน ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ขอให้เพิ่มกำลังและใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดรน ให้มากขึ้นและถี่ขึ้น หรืออาจจะตั้งด่านหลายชั้น หรือ 2-3 แนว ให้มากขึ้น 2.กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลจังหวัดชายแดน และพื้นที่ชั้นในที่ใช้แรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนที่ลักลอบเข้าเมืองมาทำงาน เช่น จ.สมุทรสาคร จะต้องมีการตรวจสอบกันมากขึ้น เอาบทลงโทษมาลงโทษทั้งผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้นำพาเข้ามา ลงโทษกันให้เห็นชัดเจน ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ไม่ว่าทุกฝ่ายจะพยายามสกัดกั้นตามแนวชายแดนแค่ไหนอย่างไร ก็ยังจะต้องเผชิญปัญหานี้ต่อไป ตราบใดที่ยังคงมีขบวนการที่ได้รับผลประโยชน์ และจิตสำนึกของคนในช่วงภาวะวิกฤติ “ปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ สุดท้ายมันก็เกิดในเมืองไทย เพียงแต่ว่าจะมาช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง เพราะปัจจัยที่คุมยากที่สุดคือ พฤติกรรมของคน” ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความข้างต้นไว้ในเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564