สปอตไลต์การเมืองไทยฉายจับทันที หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีกรอบวงเงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่
ด้วยรายงานข่าวจากที่ประชุมพิจารณาวาระดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดย ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที เนื่องจากมีเอกสารประกอบเพียง 4 หน้าเท่านั้น ก่อนที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบ พร้อมกับได้กำชับว่า ขอให้เรื่องนี้เป็นความลับไม่มีการเปิดเผยใดๆ ทั้งสิ้น
แน่นอนว่า ขึ้นชื่อว่าลับย่อมเป็นที่น่าสนใจ และยิ่งวงเงินสูงถึง 7 แสนล้านบาท ดูเผินๆ เหมือนลูกจะเข้าเท้าฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้น!?
ด้วยหากย้อนไปก่อนหน้านี้ มีกระแสเรียกร้องจากภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ
และภายหลังมติครม.ดังกล่าวผ่านออกมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ก็ขานรับและสนับสนุนให้เร่งผลักดันพระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณสุข มาตรการเยียวยาชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง
ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็มองว่าพ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่รัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยการใช้วงเงินกู้จริงคงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า ในทางตรงข้าม หากไม่มี พ.ร.ก.กู้เงินฯ นี้ แต่การแพร่ระบาดยังไม่ทุเลาลง รัฐบาลก็จะขาดเครื่องมือทางการคลังในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกกระทบนั้น พร้อมกับแนะให้รัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะ
คงมีแต่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่ออกมาให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การสร้างหนี้ของรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมืองเพียงเท่านั้น
แต่ทั้งที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการ อีกทั้งก็สอดรับกับเสียงเรียกร้องของภาคเอกชน เหตุไฉนจึงต้องปิดลับ
แต่กระนั้น ก็ช่วยเบี่บงเบนความสนใจของฝ่ายการเมืองมาสู่ พ.ร.ก.กู้เงิน ดึงประเด็นการเมืองกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯอีกครั้ง จนอดคิดไม่ได้ว่าเป็นหมากกลการเมืองที่วางเอาไว้อย่างแยบยล