ทวี สุรฤทธิกุล “7 ปีที่น่ารำคาญ” มาจากสำนวนฝรั่งที่ว่า “Seven year itches.” ที่จริงคำว่า itches แปลตรง ๆ ว่า อาการคัน เช่นเวลาที่เป็นผดผื่นหรือโรคผิวหนังต่าง ๆ ฝรั่งเขาใช้กับคนที่แต่งงานกัน เมื่อพออยู่กันไปนาน ๆ ประมาณว่าสัก 6-7 ปี ก็จะเริ่มเบื่อหน่ายหรือรำคาญกันและกัน เหมือนเกิดผดผื่นคันขึ้นหัวใจ กลายเป็นความระหองระแหง ชวนทะเลาะเบาแว้ง และนำไปสู่การเลิกราหย่าร้างในที่สุด จึงขอนำมาใช้เป็นชื่อจั่วหัวบทความ เพื่อสื่อแสดงถึงนัยยะทางการเมือง ดังที่จะได้พรรณนาต่อไป รัฐบาลนี้สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นับถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 8 หลังจากที่รัฐประหารนั้นมาได้ 2 วันแล้ว ถ้าเป็นไปตามสำนวนฝรั่งข้างต้น ท่านก็ว่าผ่านพ้น “ขีดอันตราย” ไปแล้ว คือผ่านพ้น 7 ปีมาได้ แม้จะถลอกปอกเปิกและบาดเจ็บมาบ้าง แต่ก็เอาตัวรอดและอยู่รอดมาได้ และทำท่าว่าจะฝ่าฟันเอาตัวให้รอดต่อไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับสืบทอดอำนาจ)ได้เขียนไว้ ก็คือต้นปี 2566 โดยที่บทบังคับที่เอาเปรียบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ยังต้องใช้อยู่หลังการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ (เพราะรัฐธรรมนูญนี้เจ้าเล่ห์มาก ที่ คสช.ให้เขียนคร่อมช่วงเวลาเลือกตั้งไว้ อีก 1 ปี คือ การเลือกตั้งมีรอบระยะ 4 ปี แต่อำนาจ ส.ว.นี้ยังคงอยู่ถึง 5 ปี) เมื่อสัปดาห์ก่อนได้กล่าวมาแล้วในบทความนี้ว่า รัฐบาลนี้ได้ “กระทำ” อะไรกับการเมืองไทยและคนไทยมาบ้าง จึงจะไม่ขอกล่าวถึง “ผดผื่นคัน” ที่ผู้ปกครองคณะนี้ได้ฝากไว้อย่างมากมายนั้นอีก พอดีก็มีคนไทยที่รำคาญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ได้บ่นออกมาถึง “วันต่อไป” ว่าการเมืองไทยจะไปถึงไหน โดยเฉพาะรัฐบาลนี้จะเป็นไปอย่างไร เมื่อไรจะไปเสียที และจะต้องทนอึดอัดอยู่ในสภาพนี้ไปอีกนานเท่าไร จึงอยากจะขอเป็น “ยาลดผดผื่นคัน” ให้กับคนที่มีอาการอย่างนี้สักเล็กน้อย ด้วยแนวคิดและทฤษฎีที่ได้ร่ำเรียนมา ร่วมกับประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีอยู่กับการเมืองไทยมาบ้าง ว่า “เรื่องนี้ยังมีทางออกและยังมีความหวัง” หลักการแรกที่ท่านทั้งหลายจะต้องเข้าใจก็คือ อำนาจสูงสุดในทางการเมืองไทย ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนคนไทย แต่อยู่ที่กลุ่มผู้นำ ที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง ประกอบด้วยทหาร ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพลในทางการเมืองและทางธุรกิจ ที่บางครั้งถูกเรียกว่า “อำมาตย์” จนถึงขั้นที่ไปดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อรู้ว่าอำนาจอยู่ที่คนเหล่านี้แล้ว ก็จะมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเหล่านี้ เช่น คนเหล่านี้แตกแยกแยกกัน หรือมีการแก่งแย่งผลประโยชน์ในคนกลุ่มนี้ ดังตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาใกล้ ๆ นี้ ที่ ดร.ทักษิณ อ้างว่าตนเองได้อำนาจมาจากประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามาบริหารประเทศ จึงพยายามลดอำนาจของอำมาตย์พวกเดิม อำมาตย์พวกนั้นจึงไปสนับสนุนม็อบขับไล่ให้ขับไล่ทักษิณ จนม็อบสุกงอมแล้วก็ทำรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่พอเลือกตั้งใหม่ในปลายปี 2550 ระบอบทักษิณก็กลับคืนมาอีก จึงพยายามขัดขวาง แต่ก็ได้แค่ก่อความวุ่นวาย จนมีการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2554 ได้น้องสาว ดร.ทักษิณ มาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงตอกย้ำถึงความพ่ายแพ่ของเหล่าอำมาตย์ นำมาซึ่งม็อบอีกรอบ แล้วก็จบลงด้วยรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังกล่าว หลังการรัฐประหารที่ผ่านมาแล้ว 7 ปีนั้น คณะทหารในฐานะหัวหอกของกลุ่มอำมาตย์ ได้พยายาม “กระชับอำนาจ” ในทุกวิถีทาง สิ่งหนึ่งที่ทำสำเร็จก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ตามมาด้วยการกวาดต้อนนักการเมืองกเฬวรากเข้ามาเป็นฐานสนับสนุน กระทั่งได้จัดตั้งรัฐบาล และ “ถูลู่ถูกัง” ลากถูกันให้อยู่รอดมาได้อย่างทุลักทุเลดังกล่าว เพราะแม้จะมีความขัดแย้งกันในพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง แต่พอถามว่าจะออกจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครเข้าใจคำถามนั้น เห็นแต่ที่มีแต่คน “ทนบากหน้า” อยู่ร่วมเป็นรัฐบาลนั้นต่อไป อันนำมาสู่ “ผดผื่นน่ารำคาญ” ในขณะนี้ ทางออกหรือ “ยาแก้ผดผื่นคัน” ของปัญหานี้ น่าจะเป็นไปได้ 2 ทาง คือรัฐบาลและคณะผู้ปกครองคณะนี้อาจจะพบจุดสิ้นสุดด้วย 2 สาเหตุ คือ สาเหตุธรรมชาติ และสาเหตุที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งสาเหตุธรรมชาตินี้ ก็คือ หลักวัฏฏะสงสาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกสิ่งย่อมมีเกิดดับเป็นธรรมดา นั่นก็คือต้องรอให้คนในกลุ่มนี้มีอันเป็นไปตามวัฏจักรของชีวิต ส่วนสาเหตุที่ผิดธรรมชาติ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นชาวพุทธก็ไม่อยากจะไปสาปแช่งใคร แต่เวรกรรมนั้นมีจริง และถ้าสิ่งที่คณะผู้ปกครองนั่นเป็นบาป บาปนั้นก็จะสนองต่อพวกเขาเอง ขณะนี้ก็ต้องอดทน ถ้ารำคาญหรือคันก็แกะก็เกาให้ลดความคันนั้นไปก่อน เพราะยารักษาโรคนี้ที่หมายถึงรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข ยังคงเป็น “ยาเลี้ยงไข้” ให้การเมืองไทยนี้ป่วยไปอีกสักระยะ ดังนั้นระหว่างที่รอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องพยายามบำรุงร่างกายให้แข็งแรง สู้กับโควิดที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงให้รัฐบาลนี้อยู่รอดไปได้เช่นกัน เพราะการก่อม็อบในยุคนี้น่าจะยังคงยากลำบาก ถ้าจะเป็นม็อบก็คงเป็นได้แค่ “ม็อบคีย์บอร์ด” ที่สร้างกระแสปลุกเร้า “สุมไฟ” ให้สังคมคุกรุ่นอยู่เสมอ บางทีความร้อนจากโซเชียลเน็ตเวิร์คนี้อาจจะลดทอน “ความคันคะเยอทางการเมือง” นี้ได้บ้าง ผู้เขียนกลับไปนึกถึงสำนวนฝรั่งที่ขึ้นต้นไว้อีกครั้ง ก็ให้หวั่นใจและไม่สบายใจ เนื่องจากความเบื่อหน่ายน่ารำคาญนั้น หากคนส่วนมากอดทนและอยู่ร่วมกับมันมาได้เกินกว่า 7 ปี อย่างชีวิตการแต่งงานที่ถ้าหากอดทนมานานได้ถึงปานนี้ คู่ผัวเมียนั้นก็สามารถที่จะอยู่ต่อไปได้อีก บางทีก็นานแสนนานจนหมดอายุขัย ก็เช่นเดียวกันกับคณะปกครองชุดนี้กับคนไทยพวกเรา ที่สามารถอยู่ร่วมกัน “อย่างน่ารำคาญ” มาได้เกินกว่า 7 ปีนี้แล้ว ก็น่ากลัวว่าอาจจะต้องอยู่ด้วยกันต่อไปอีกนาน อาจจะอยู่กันไปจนหมดอายุขัย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าผู้ปกครองคณะนี้จะหมดอายุขัยเมื่อไร?