แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงได้โดยง่าย แม้จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม สามารถนั่งกินภายในร้านได้แต่ไม่เกิน 21.00 น.และซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นถึงเวลา 23.00 น. รวมทั้ง จำกัดคนนั่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งปกติก็ตาม ทว่าก็มีข่าวผู้ประกอบการถอดใจปิดร้านอาหารเพราะสู้ต่อไม่ไหว
สะท้อนว่าหากสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อเท่าไหร่ นอกจากจะกระทบในเชิงสุขภาพที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากและเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์แล้ว ปัญหาเศรษฐกิจก็จะดิ่งเหวลงไปจนกู่ไม่กลับ
ล่าสุด มีคำแนะนำจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2564 ว่าควรให้ความสำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่
1.การควบคุมการระบาดในประเทศเพื่อให้ผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่วงจำกัดโดยเร็วและป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงระลอกใหม่ โดยเน้นตรวจเชิงรุกในพื้นที่หรือชุมชนที่เสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองต่างที่ยังเผชิญการระบาดรุนแรง รวมทั้งดูแลและควบคุมกิจกรรมและกิจการบางประเภทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดของโรคเข้มงวด และการป้องกันการนำเข้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มเติมโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้ที่เดินทางข้ามชายแดน
รวมทั้งเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอให้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยจัดลำดับความสำคัญตามหลักการสาธารณสุขในการกระจายให้กลุ่มที่เสี่ยงสูง ควบคู่การคำนึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งในภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่สำคัญ รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเข้ารับวัคซีน
โดยสศช.ระบุว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเคลื่อนตัวระยะต่อไป จึงขอความร่วมมือการเผยแพร่ข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเพื่อให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ และสร้างภูมคุ้มกันหมู่ที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่จะดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขต่อเนื่องเพื่อลดการระบาดให้ได้ เพื่อที่จะช่วยให้ประเทศเดินหน้าผ่านวิกฤติได้ต่อไป
2.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยเน้นในภาคเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อให้รวดเร็ว และมีมาตรการรักษาการจ้างงานในภาคธุรกิจ รวมทั้งการจ้างงานใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้มีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่เพิ่มเติม
3.ขับเคลื่อนการส่งออก โดยเร่งการเจรจาในเรื่อง FTA กับยุโรป และสหราชอาณาจักร และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
4.เร่งการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย และแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นการลงทุนในอนาคตของไทยเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
5.เน้นการขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายรวมต้องได้ 92% เพื่อให้เงินหมุนเวียน ขณะที่เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ต้องเบิกจ่ายให้ได้ 80% ในเดือน ก.ย. 2564
6.เร่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเร่งกระจายวัคซีนและเตรียมความพร้อมพื้นที่ท่องเที่ยวเช่น สมุย ภูเก็ต กระบี่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูงเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น
7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เราเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ สศช. เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องน้อมรับและเร่งขับเคลื่อน แน่นอนว่าบางเรื่องรัฐบาลไม่สามารถผลักดันได้เพียงลำพัง หากต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนั้นยากมหาหิน ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องกลับไปแก้กรรม จากโจทย์การเมืองที่เคยเล่นการเมืองมากเกินไปก่อนหน้านี้ เผื่อจะสร้างบรรยากาศดีๆและแสวงหาความปรองดองชั่วคราวให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดและหายนะทางเศรษฐกิจ