เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
“ประมาณเกือบ 30 ปีมาแล้ว ผู้นำชาวนาฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งมาศึกษาดูงานที่เมืองไทยโดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ การพบกับกลุ่มเกษตรกรไทย พวกเขาอยากมาบอกเกษตรกรไทยว่า ขอให้ลดการปลูกมันสำปะหลัง เพราะไทยส่งมันเข้าตลาดอียู ทำให้พวกเขามีปัญหาในการขายอาหารสัตว์ที่ผลิตในท้องถิ่น
แต่มาได้เพียงสองวัน พวกเขาก็เปลี่ยนความตั้งใจ เพราะได้พูดคุยกับผู้นำเกษตรไทยโดยตรง ได้รับรู้ถึงปัญหาและความทุกข์ยากของคนในบ้านนี้เมืองนี้ที่ก็ไม่มีทางออกเหมือนกัน พวกเขาสรุปว่า เกษตรกรที่ไหนๆ ไม่ว่าที่ฝรั่งเศส ที่เมืองไทย หรือที่บราซิลก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน เป็นเหยื่อของระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก มือใครยาวสาวได้สาวเอา
แทนที่จะมาบอกให้เกษตรกรไทยลดหรือเลิกปลูกมันสำปะหลัง สู้มาเป็นเพื่อนกัน เป็นภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดจะดีกว่า
ตลอดระยะเวลา 10 ปีหลังจากนั้น มีการไปมาหาสู่กันระหว่างกลุ่มผู้นำเกษตรกรไทยและยุโรปหลายครั้ง พวกเขาได้สรุปบทเรียนของความสำเร็จและความล้มเหลวในยุโรป เตือนเพื่อนคนไทยไม่ให้เดินไปตกหลุมเดียวกัน บอกทางลัดไปสู่ความสำเร็จ
ผู้นำเกษตรกรไทยที่ร่วมขบวนการเป็นที่รู้จักกันดีอย่างวิบูลย์ เข็มเฉลิม บำรุง บุญปัญญา บำรุง คะโยธา ประยงค์ รณรงค์ ลัภท์ หนูประดิษฐ ชบ ยอดแก้ว อัมพร ด้วงปาน ตรีวุธ ภาระพัฒน์ เล็ก กุดวงแก้ว ยงยุทธ ตรีนุชกร ผาย สร้อยสระกลาง ทัศน์ กระยอม รวมทั้งนักวิชาการไทยที่ทำงานกับชุมชนอย่าง ดร.ปรีชา อุยตระกูล อาจารย์อนันต์ ลิขิตประเสริฐ เป็นต้น
เครือข่ายเกษตรกรที่ยุโรปมีพลังมาก ในแต่ละประเทศมีเกษตรกรเพียงร้อยละ 2-3 ของประชากร แต่มีเครือข่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เพราะเชื่อมโยงผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ผลผลิตทางเกษตรต่างๆ ตั้งแต่ข้าวปลาอาหาร เหล้า ไวน์ ขนมนมเนย ปุ๋ย ยา เครื่องมือเกษตรทุกชนิด
พรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้ต่างก็วิ่งเข้าหากลุ่มเกษตรกร เพราะมั่นใจในฐานเสียงของเครือข่าย ได้ใจพวกเขาก็เท่ากับชนะเลือกตั้งไปครึ่งหนึ่งแล้ว
พวกเขาเล่าให้ฟังว่า เครือข่ายเกษตรกรในยุโรปเริ่มจริงๆ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง ตอนที่สังคมกำลังลำบากยากแค้น ประสบภาวะขาดแคลนอย่างหนัก เกษตรกรเริ่มเดินทางไปมาหาสู่กัน โดยสารรถประจำทางบ้าง รถไฟบ้าง จนเมื่อสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น พวกเขาก็ขยายเครือข่ายออกไประดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ และระหว่างประเทศในที่สุด
ผู้นำเกษตรกรไทยได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำเกษตรกรในฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และแอฟริกาตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงที่โน่นโดยเครือข่ายจากยุโรป
ผู้นำเกษตรกรไทยหลายท่านที่ได้ร่วมขบวนการนี้มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ขยายเครือข่ายในพื้นที่ของตนเอง แม้ว่าจะเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่ก็เป็นพลังเงียบที่รู้เท่าทันเหตุการณ์บ้านเมืองและระบบเศรษฐกิจสังคมที่ซับซ้อนและมีพลังสูงมากในการครอบงำประชาชน
ที่สำคัญ ได้เรียนรู้ว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองไทยนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากเป็นเหยื่อ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อความมั่งคั่ง เพื่อความมั่นคง เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เกษตรกรฝรั่งเศสสรุปว่า พวกเขาเป็นเหยื่อของระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเกษตรกรไทยและประเทศไหนๆ ในโลก”
กรณีนี้ ใช้คำว่า hegemony ของ อันโตนิโอ กรัมชี ได้ทั้งนั้น เพราะคำนี้มีความหมายจริงๆ คือ การครอบงำอย่างแนบเนียนจนถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีการต่อต้านใดๆ ยอมรับว่า “มันเป็นเช่นนี้เอง”
เหยื่อของระบบสังคมนี้ถูกทำให้มึนงงเหมือนคนติดยา ถูกเบี่ยงเบนบิดเบือน ถูกสั่งสอนว่าไม่ต้องไปสนใจเรื่องคุณค่า เรื่องจริยธรรม เป้าหมายสำคัญกว่าเครื่องมือหรือวิธีการ ไม่ต้องถามว่า วิธีการนี้ดีไม่ดีอย่างไร ขอเพียงใช้ให้ได้ผล ช่วยให้บรรลุเป้าหมายเป็นพอ
กระนั้นก็ดี วันนี้ระบบทุนนิยมพยายามปรับปรุงตนเอง พยายามสวมเสื้อยี่ห้อ “จริยธรรม” ให้คนเห็นมากๆ มาในนามของ “CSR” หรือ ความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัท”
“ประชารัฐ” เป็นกลไกหนึ่งในการ “ปฎิรูป”
การปฏิรูปนี้สำเร็จหรือไม่คงไม่วัดกันที่จีดีพีหรือการส่งออก แต่วัดที่คุณภาพชีวิตของชาวนาชาวไร่ 30-40 ล้านคนที่ยังรายได้ไม่พอกิน หนี้สินท่วมตัว ความเหลื่อมล้ำไม่ลด เพราะผู้นำสังคมไทยยังเชื่อ “ทฤษฎีการพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม” ให้คนรวยรวยก่อน แล้วดึงคนจนให้รวยตาม
เป็นนิยามและนิยายของการพัฒนาที่พาฝันมา 50 ปี แล้วต่างอะไรจากโครงการจำนำข้าว ที่ชาวนาเป็นเหยื่อ เป็นฐานเสียง ฐานอำนาจของนักการเมือง