ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต คำว่า สหวิทยาการ (multi-disciplinary approach ) คนทั่วไปเข้าใจว่าการวิเคราะห์และมองปัญหาสังคม หรือปัญหาอื่น จะเป็นประโยชน์ทั้งในความเข้าใจและกำหนดนโยบายด้วยการวิคราะห์จากสาขาวิชาการแขนงต่างๆ เช่น ปัญหาเรื่องยาเสพติด อาจต้องวิเคราะห์จากแง่มุมของนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ต้องนำประเด็นเศรษฐกิจมาวิเคราะห์ นักสังคมวิทยาก็ต้องนำเรื่องโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรม นักจิตวิทยาก็อาจจะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความสับสนของค่านิยมและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพตนเอง ฯลฯ แต่คนส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิชาการก็รู้อย่างผิวเผินดังที่กล่าวมาแล้วว่า สหวิทยาการ (multi-disciplinary approach) หมายถึง การมองปัญหาจากแง่มุมต่างๆ ของสาขาวิชาการต่างๆ คำถามก็คือสหวิทยาการมีเพียงเท่านั้นหรือ และในทางปฏิบัติไม่มีการเอ่ยถึงมากนักว่าในการปฏิบัติจะนำเอาวิธีการวิเคราะห์แบบสหวิทยาการมาใช้ได้อย่างไร ก่อนอื่นจะต้องแยกแยะระหว่างสหวิทยาการ (multi-disciplinary approach) กับทวิวิทยาการ (inter-disciplinary approach) ซึ่งในส่วนทวิวิทยาการมักจะหมายถึงการวิเคราะห์ระหว่างสองสาขาวิชาการ เช่น การมองปัญหายาเสพติดโดยการนำเอาตัวแปรทางการเมือง พร้อมกับตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ แต่ไม่ได้มองตัวแปรอื่นเนื่องจากความรู้อันจำกัดของนักวิเคราะห์ปัจเจกบุคคล และนี่คือปัญหาหลักของสหวิทยาการ จะหวังให้มีคนๆ เดียวมีความรู้ทางวิชาการหรือมากกว่าสาขา เช่น มีความรู้ทางการเมือง รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา วัฒนธรรม จิตวิทยา มนุษยวิทยา รวมทั้งความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ในบางแง่ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากเวลาและทรัพยากรอันจำกัด และเนื่องจากความกว้างใหญ่ของสหวิทยาการไม่มีใครสามารถจะรวมทุกแขนงอยู่ในคนๆ เดียวได้ แต่ตัวอย่างที่เคยมีสมัยกรีกโบราณ เพลโต้พยายามนำเอาสาขาวิชาต่างๆ คือวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มาวิเคราะห์ร่วมกัน ส่วนอริสโตเติลเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดยิ่งขึ้น มีทั้งแขนง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และอื่นๆ เท่าที่มีในยุคนั้นมาวิเคราะห์ปัญหาสังคมที่เป็นไปได้ เนื่องจากยุคนั้นสาขาวิชายังไม่มีขอบเขตที่กว้างขวาง จึงสามารถจะศึกษาหาความรู้ได้ในมุมมองต่างๆ เพราะระดับการพัฒนาของสาขาวิชาการต่างๆ ยังอยู่ในลักษณะจำกัด แต่ในยุคปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ที่ความรู้อันกว้างใหญ่ไพศาลในหลายสาขาวิชาจะสามารถเรียนรู้ได้โดยคนๆ เดียว อย่างดีก็ 2-3 สาขาวิชา เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ชัดว่า ในเบื้องต้นความเข้าใจเรื่องสหวิทยาการเป็นความเข้าใจอย่างผิวเผินเพียงแต่เอ่ยผ่านๆ ซึ่งในการอภิปรายที่จัดขึ้นโดยสหวิทยาการของราชบัณฑิตร่วมกับสภาวิจัยแห่งชาติ การอภิปรายก็มีลักษณะดังกล่าวคือเพียงแต่เอ่ยว่าต้องมองวิเคราะห์ปัญหาจากมุมมองของความรู้ทางสาขาวิชาการต่างๆ จากผู้รู้ แต่ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดหรือวิธีการที่จะเข้าถึงปัญหาแบบสหวิทยาการเลย ที่สำคัญที่สุด ในอดีตนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าสหวิทยาการก็คือมีประเด็นที่ต้องวิเคราะห์หนึ่งประเด็น เช่น ยาเสพติดก็ให้นักรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา ฯลฯ ต่างคนต่างไปเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ เขียนออกมาเป็นรายงานในเรื่องยาเสพติดจากมุมมองของตน จากนั้นจึงเอาบทความแต่ละคนพิมพ์รวมเล่มใส่ปกเดียวกันแล้วบอกว่านี่คือการศึกษาแบบสหวิทยาการ ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง วิธีการเข้าถึงปัญหาแบบสหวิทยาการมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ 1. จะต้องมีการประชุมนักวิชาการที่มีความสนใจ มีความรู้ความสามารถในระดับใกล้เคียงกัน มาร่วมกันศึกษาปัญหาสังคมร่วมกัน เช่น ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย โดยทุกฝ่ายจะต้องประชุมกันเพื่อจะถกแถลงหาคำตอบเกี่ยวกับคำว่า ปัญหายาเสพติด โดยมีความเข้าใจความหมายอันเดียวกัน เช่น หมายถึงสิ่งที่ทำให้เสพติดจนเป็นนิสัย เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ยาอี ยาบ้า ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต เศรษฐกิจ นำไปสู่ปัญหาสังคม การสร้างอาชญากรรม การละเมิดกฎหมาย ฯลฯ เพราะถ้าไม่มีการพูดถึงคำจำกัดความของยาเสพติดอาจจะพูดกันคนละเรื่อง เช่น ทางการแพทย์อาจจะมองว่าการกินยานอนหลับประจำถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งในความหมายของการวิจัยและสหวิทยาการต้องเข้าใจอย่างกระจ่างว่าหมายถึงปรากฏการณ์อันเดียวกัน และเป็นที่เข้าใจกันอย่างดี 2. จะต้องมีการประชุมที่เรียกว่า Workshop ซึ่งจะต้องมี Dialogue และการเสวนาตลอดเวลาเพื่อหาความเข้าใจร่วมกัน เช่น ในการวิจัยจะมีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องหาข้อมูลแบบเดียวกัน ตั้งคำถามจากมุมต่างๆ โดยเข้าใจความหมายที่ใกล้เคียงกัน เช่น อาจจะมีการถามทางรัฐศาสตร์เห็นด้วยกับคำถามนี้หรือไม่ และความหมายแท้จริงคืออะไร จากนั้นจึงไล่ไปยังสาขาวิชาการอื่นๆ เพื่อมีความเข้าใจร่วมกัน ในการวิเคราะห์ปัญหาและการตั้งประเด็นคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บข้อมูล หลังจากนั้นในการวิเคราะห์ก็ต้องมีการเสวนาและปรึกษาหารือในลักษณะ dialogue ตลอดโครงการของการวิจัย 3. เมี่อมีการผ่านกระบวนการสองขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการประชุมร่วมกันซึ่งจะมีการเสวนาเรื่อง common theme ของการวิจัย common methodology หรือวิธีการเข้าถึงปัญหาที่เป็นอันเดียวกัน และ common conclusion คือข้อสรุปที่อยู่ในกรอบเดียวกัน ยกเว้นบางสาขาวิชาอาจมีบางประเด็นที่ต้องแยกต่างหาก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักแต่เป็นข้อยกเว้น 4. ในการเสนอแนะนโยบายการแก้ไขจะต้องเสนอจากมิติต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหานั้นสัมฤทธิ์ผล แต่ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาแบบสหวิทยาการมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง ดังต่อไปนี้ คือ (1) ในการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อจะให้มีความเข้าใจถึงตัวที่เป็นตัวแปรนำ นำไปสู่ตัวแปรตาม หรือที่เรียกว่าตัวที่เป็นเหตุนำไปสู่ผล ทั้งๆ ที่ในทางสังคมศาสตร์คำว่าตัวแปรนำ ตัวแปรตาม ไม่สามารถพูดได้อย่างมั่นใจแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในทางสังคมศาสตร์อย่างดีที่สุดก็คือ เมี่อ A เกิดขึ้น B ก็เกิดขึ้น แต่บอกไม่ได้ว่า A เป็นตัวนำไปสู่ B หรือ B นำไปสู่ A รู้แต่สองอย่างนี้สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอีกสิ่งหนึ่งก็เกิดขึ้น เช่น ไก่ขันเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น มีความเกี่ยวพันระหว่างแสงอาทิตย์และการขันของไก่ในยามเช้า แต่บอกไม่ได้ว่าไก่ขันเพราะแสงอาทิตย์ หรือที่ตลกก็คือ ดวงอาทิตย์ขึ้นเพราะไก่ขัน เมื่อเป็นเช่นนี้การวิเคราะห์ปัญหาจึงมักจะจับตัวแปรอื่นให้นิ่ง (ceteris paribus-other things being equal) ซึ่งแนวทางปฏิบัติก็คือพยายามทำข้อมูลให้มีการใกล้เคียง เช่น ถ้าจะพยายามพิสูจน์ว่าระดับการศึกษาสูงนำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมืองสูง ระดับการศึกษาต่ำนำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมืองต่ำ และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาและความตื่นตัวทางการเมืองจะต้องสุ่มประชากรที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ เอาเพศเดียวกัน ศาสนาพุทธด้วยกัน อายุ 20-25 ปีกลุ่มเดียวกัน รายได้ 15,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน อาศัยอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน มีอาชีพใกล้เคียงกันเช่นเกษตรกร ฯลฯ เป็นการล้างข้อมูลให้สะอาดจะได้ไม่มีน้ำหนักในแง่ตัวแปรที่จะนำไปสู่ผลที่เกิดขึ้น เพื่อจะพิสูจน์ว่าระดับการศึกษาส่งผลต่อความตื่นตัวทางการเมืองน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ในการวิเคราะห์เช่นนี้เป็นการวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ (science) แต่เมื่อผู้วิเคราะห์นำผลที่ได้นำเสนอต่อผู้วางนโยบายเป็นการเสนอเฉพาะตัวแปรสองตัวที่พิสูจน์และคุมตัวแปรอื่นๆ แล้วเป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริงตัวแปรต่างๆ ที่คุมในการศึกษานั้นไม่สามารถคุมตัวแปรได้ในโลกของความเป็นจริง ประชาชนมีรายได้ที่หลากหลาย ระดับการศึกษาที่แตกต่าง ศาสนาที่แตกต่าง ฯลฯ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะจึงต้องนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณา ประกอบกับประสบการณ์ ความรู้ความสามารถทางการเมือง ที่เรียกว่า ศิลป์ เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ปัญหาจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จะอาศัยศิลป์อย่างเดียวโดยไม่มีข้อมูลไม่ได้ จะอาศัยศาสตร์อย่างเดียวก็ไม่ได้ จากตัวอย่างข้างบนนี้จะเห็นได้ชัดว่า ขณะที่พยายามทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหาจะต้องใช้สหวิทยาการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ปัญหาและการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนา แต่ในการวิเคราะห์ไม่สามารถจะวิเคราะห์โดยไม่จับตัวแปรอื่นให้นิ่งได้ เพื่อให้น้ำหนักกับตัวแปรที่ต้องการพิสูจน์ และจะกลายเป็นฐานสำหรับการแก้ปัญหา ผลสุดท้ายก็กลายเป็นตัวแปรเดี่ยว (mono-casual analysis) ซึ่งสหวิทยาการเป็นการมองตัวแปรต่างๆ (multi-faceted approach) นี่คือข้อจำกัดข้อที่ 1 (2) ในขณะที่การแก้ปัญหาต้องอาศัยการแก้ปัญหาจากแง่มุมต่างๆ มีตัวแปรหลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการจะต้องแก้ปัญหาเดียวพร้อมๆ กันจากทุกแง่ทุกมุม ในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากงบประมาณจำกัด อาจจะแก้ปัญหาได้เพียง 2-3 ตัวแปรหลัก ตัวแปรอื่นต้องเก็บไว้ภายหลัง ถึงไม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากตัวแปรอื่นๆ จากสหวิทยาการมาแก้ปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน และเมื่อแก้ปัญหาหนึ่งแล้วไปแก้ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีการแก้ไข อาจจะไม่สอดคล้องกับปัญหาเดิม เพราะปัญหาเดิมเองนั้นก็ยังแก้ไม่เสร็จและต้องแก้ต่อไป ปัญหางบประมาณจึงเป็นปัญหาที่ทำให้การแก้ปัญหาแบบสหวิทยาการเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ (3) ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนต่างกันถึงแม้จะมีตัวแปรต่างๆ ความเร่งด่วนของตัวแปรขึ้นอยู่กับการพินิจพิเคราะห์ของผู้กุมอำนาจรัฐคือรัฐบาล และเมื่อมีการตกลงแล้วต้องให้ลำดับความสำคัญ (prioritization) ทันทีที่มีการกำหนดระดับความสำคัญต้องมีการเลือกตัวแปรอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ถ้ามองในแง่สหวิทยาการ บางตัวแปรอาจไม่ได้รับการพิจารณาเพราะความจำเป็นในการกำหนดระดับความสำคัญ (4) การกำหนดนโยบายสาธารณะและการแก้ปัญหามิได้เป็นไปตามหลักวิชาการในการบริหารปกครองอย่างเคร่งครัด แต่ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ทางการเมืองและแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการเมืองแบบเปิด เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีการวิเคราะห์แบบสหวิทยาการอย่างมีเหตุมีผล แต่การกำหนดนโยบายสาธารณะอาจจะมีข้อพิจารณาอย่างอื่นของพรรคการเมืองและนักการเมือง สถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ชัดว่า ในแง่วิชาการเพื่อความเข้าใจในการวิเคราะห์ปัญหาและเพื่อความรู้ สหวิทยาการเป็นสิ่งจำเป็น แต่การนำมาวิเคราะห์ปัญหาในทางปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของการวิเคราะห์และแก้ปัญหาแบบสหวิทยาการ ซึ่งทำให้การพยายามแก้ปัญหาอย่างครบถ้วนทุกแง่ทุมมุมตามสหวิทยาการเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ตราบเท่าที่มีความจำกัดของงบประมาณ มีความจำเป็นที่ต้องให้ลำดับความสำคัญ และมีแรงกดดันเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มอิทธิพลซึ่งมีน้ำหนักต่างกัน และนี่คือประเด็นที่วิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับการศึกษาแบบสหวิทยาการ มิฉะนั้นจะเป็นการมองผ่านๆ อย่างผิวเผิน โดยกล่าวว่าการมองจากมุมของสาขาวิชาต่างๆ ของผู้รู้หรือนักวิชาการ ก็ถือว่าเป็นสหวิทยาการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์