สมบัติ ภู่กาญจน์
วันตายปีที่ 22 ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ สร้างความคิดถึงให้ผมมากขึ้นอีก ในวาระที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐ’ กำลังย่างเข้ามา
“เมืองไทยเรามีโชควาสนาที่ดีอย่างไร ที่เรามีพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงคุณอันประเสริฐถึงเพียงนี้ ผมเข้าใจว่าคนไทยทั้งปวงก็ย่อมจะรู้สึกตัวอยู่แล้วในขณะนี้ ถ้าหากว่าเราขาดพระเจ้าอยู่หัวฯ..............บ้านเมืองไทยจะเป็นอย่างไร...........ก็สุดที่จะเดาได้”
อความนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลูเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2535 หลังจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’เพิ่งจะผ่านวิกฤติไปอย่างสันติ และสื่อมวลชนต่างประเทศได้เขียนถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9) และอาจารย์คึกฤทธิ์ได้แปลความนี้มาเขียนต่อในคอลัมน์ดังกล่าว สามปีก่อนที่ผู้เขียนจะลาจากโลกไป
อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนที่ ‘พูดและทำ’ ให้คนในประเทศเห็นชัดเจนมาตลอด ในเรื่องของการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผมได้รู้จักและรับใช้ใกล้ชิดอาจารย์คึกฤทธิ์มา ผมจำได้ไม่ลืมว่า อาจารย์พูดเสมอ ว่า
“ศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือสิ่งมีค่าสูงสุดสองอย่างที่มีผลสำคัญต่อคนไทย ศาสนาพุทธที่มีแต่คำสอน ไม่มีพระเจ้า ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ นับตั้งแต่เจ็ดแปดร้อยปีที่แล้ว มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ส่วนพระมหากษัตริย์คือผู้นำชาติบ้านเมือง เป็นสถาบันการเมืองตามหลักรัฐศาสตร์ก็จริงอยู่ แต่ถึงกระนั้นพระมหากษัตริย์กับประชาชนคนไทยก็ยังต้องตอบสนองซึ่งกันและกันในระดับหนึ่งตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ผมเชื่อว่าท่านทรงงานหนักเพื่อคนไทยและชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าคนไทยหน้าไหน หรือรัฐบาลชุดใด ในอันที่จะทำให้ชีวิตของคนส่วนใหญ่นั้นดีขึ้น ”
นึกถึงคำพูดเหล่านี้ และคิดต่อไปว่าหลังจากความตายของอาจารย์คึกฤทธิ์แล้ว พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ก็ยังคง “ทรงงาน”หนัก มากขึ้นยิ่งกว่ายุคที่อาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่อีกหลายเท่า ผมก็ยิ่งคิดถึงอาจารย์ของผมมากตามไปด้วยกัน
คิดถึงว่า ถ้าวันนี้อาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะทำอะไรในวาระสำคัญนี้? ซึ่งอาจจะไม่มีใครเหมือน หรือไม่เหมือนกับใคร
คิดแล้วก็ตอบไม่ได้ครับ!
เมื่อยังหาคำตอบไม่ได้ ก็ต้องนึกถึงคำสอนต่างๆของอาจารย์คึกฤทธิ์ต่อไปอีก นึกถึงคำสอนที่ท่านเคยบอกว่า
“บางครั้งที่เราหาคำตอบอะไรไม่ได้ ผมแนะนำให้ไปหาที่คำสอนของศาสนาพุทธเถอะครับ มีคำตอบของทุกคำถามในโลก อยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักศึกษาให้ดี
ขั้นต้นที่สุด เกิดมาเป็นคน ถ้าอยากรู้ว่าจะทำอะไรดีหรือไม่ดีต่อตัวเองหรือคนอื่น ก็พิจารณาแค่ศีลกับธรรมก่อน แค่อย่างละห้าข้อว่าพอไหม? ถ้ากว้างเกินไปก็ยังมีให้เลือกอีก มงคล 38 อย่างเป็นอย่างไร? น่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ! ว่าแต่ว่าทุกวันนี้จะมีใครสักกี่คนล่ะครับ ที่จะรู้ครบว่ามงคลทั้ง๓๘อย่างในคำสอนทางพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง และเราควรจะอธิบายคำสอนนี้อย่างไรจึงจะรับกับโลกในปัจจุบัน”
คิดถึงคำสอนตอนนี้ หนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่งก็ผ่านเข้ามาในใจของผม หนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์อมรินทร์ ร่วมกับ7-ELEVENและBOOK SMILEร่วมกันจัดพิมพ์ขึ้นในปี 2556 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะสวรรคตสี่ปี เป็นหนังสือซึ่งมีชื่อว่า 108 มงคล พระบรมราโชวาท - เพื่อความสุขและความสำเร็จของชีวิตแบบยั่งยืน พิมพ์จำหน่ายเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ในกิจการของโรงเรียนไกลกังวลหัวหิน
ทุกพระบรมราโชวาท 108 หัวข้อ ที่ผู้พิมพ์คัดเลือกมานั้น ล้วนแล้วแต่สอดคล้องต้องกันกับมงคลในพุทธศาสนาโดยไม่มีข้อสงสัย อาทิในหน้า 9 ของหนังสือเล่มนี้ ที่มีหัวข้อว่า
การให้ความรักความเมตตา และมีน้ำใจไมตรี จะทำให้สำเร็จผลได้ จากหัวข้อนี้มีความจากพระบรมราโชวาท ส่วนหนึ่ง ว่า
“......ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ ทุกคน ทุกฝ่ายจะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุขความเจริญมั่นคง ให้แก่ตน แก่ประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการ ให้สำเร็จผลได้ดังที่ตั้งใจปรารถนา.....”
นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในร้อยแปดของพระบรมราโชวาท ที่ผ่านแวบเข้ามาในหัวใจ
สาวกของพระพุทธเจ้าเคยถามพระพุทธเจ้าว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว สานุศิษย์ควรจะยึดถือหรือบูชาในสิ่งใดต่อไปอีก พระพุทธเจ้าตอบว่า คำสอนของพระองค์ ควรเป็นสิ่งที่ยึดถือหรือเคารพบูชาต่อไปยิ่งกว่าสิ่งอื่น – นี่เป็นอีกหนึ่งความคิดที่ตามมา หลังจากที่ผมกลับไปหา “108 มงคลพระบรมราโชวาท” นี้มาอ่านอีกครั้ง ประกอบกับการคิดและพิจารณา
ถ้าเราจะเห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์คึกฤทธิ์เรื่อง ศาสนาและพระมหากษัตริย์คือสิ่งสูงค่าที่คนไทยมีอยู่ ผมคิดว่า เรามานั่งอ่านพระบรมราโชวาทเหล่านี้กันอีกครั้ง กับคิดและทำ ตามคำสอน ในสิ่งที่พึงทำกันให้จริงจังมากขึ้น(กว่าที่เราเห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้) มงคลย่อมจะเกิดแก่คนไทยสังคมไทยและประเทศชาติ เหนือกว่าการกระทำอีกมากมายหลายอย่างในวาระนี้