ดร.วิชัย พยัคฆโส
payackso@gmail.com
กระแสตอบรับของคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพุ่งกระฉูดจาการรูดบัตรซื้อสินค้าและบริการคมนาคม เพียงวันแรกยอดพุ่งนับร้อยล้านบาท นับเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้รายได้น้อยที่ถูกทาง
รัฐบาลใช้ความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเน้นไปที่ประชาชนที่มีรายได้น้อย แม้ว่าจะเป็นโครงการเร่งด่วนที่ยังมิได้สร้างความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตก็ตามที แต่มูลค่า 200-300 บาท มีคุณค่าต่อชีวิตความเป็นอยู่จากร้าน “ธงฟ้าประชารัฐ” ที่ไม่เคยปรากฏ
จริงอยู่จะเป็นสวัสดิการของรัฐที่อาจพูดได้ว่าเป็นประชานิยม แต่เป็นการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเองคืนกลับไปให้ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในการหมุนเวียนได้อีกหลายรอบ รัฐไม่สูญเปล่า ประชาชนได้ประโยชน์ รัฐได้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคลกลับคืนมา คิดเป็นระบบที่มีแต่ได้ ไม่เสียหาย เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่ประชาชนได้ รัฐบาลเสียหายและรั่วไหลในกระบวนการมากมาย
เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่าคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยมีมากกว่า 11 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเกาตรกรเสียครึ่งต่อครึ่ง รัฐบาลผ่านๆมาแก้ปัญหาไม่ค่อยจะตรงจุด เกษตรกรเขามีปัญหาต้นทุนสูงอันเกิดจากปัจจัยการผลิต เช่น พันธ์พืชไร่ หรือพันธ์ปศุสัตว์ คุณภาพดิน คุณภาพน้ำ คุณภาพปุ๋ย รวมถึงระบบชลประทาน ทั้งน้ำไม่พอ น้ำแล้ง น้าท่วม ยังบริหารจัดการไม่ได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีแต่หนี้สินกันเกือบทุกครัวเรือน โจทย์นี้ยิ่งใหญ่พัวพันกันหลายกระทรวง แต่กระทรวงหลักๆคงหนีไม่พ้น กระทรวงเกษตร และ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงที่ควรต้องบูรณาการเพื่อการพัฒนามากกว่าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ แล้วยุทธศาสตร์พัฒนาภาคการเกษตรอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทำ น่าจะเอามาเปิดดูกัน
จู่ๆกำลังได้ข่าวดีในโครงการประชารัฐสวัสดิการ กลับมีข่าวการเรียกร้องของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ให้รัฐบาลยุติการนำเข้าสุกรจากอเมริกามาแข่งขัน เพราะผู้เลี้ยงสุกรรายได้ต่ำอยู่แล้ว แต่ทำไมสุกรของอเมริกาจึงถูกกว่าไทย กก.กว่า 10 บาท ทั้งๆที่สุกรมิได้ขาดแคลนสินค้านี้เลย รัฐบาลน่าจะหาทางลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้จากการแปรรูปสุกรให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า
ยิ่งกว่านั้น กรมทรัพยากรน้ำกลับเสนอร่าง พรบ.ทรัพยากรน้ำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ประชาชนเข้าใจว่าจะเป็นกฎหมายบริหารจัดการน้ำไม่ให้น้ำแล้ง ไม่ให้น้ำท่วม มีน้ำใช้ น้ำกินอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่กลายเป็นกฎหมายเก็บค่าใช้น้ำสำหรับผู้ใช้น้ำสาธารณะ รวมถึงภาคเกษตรด้วย
จึงเป็นการสวนทางกับกรมชลประทาน ที่มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปี 61 ที่จะลงทุนใน 5 โครงการมากกว่า 40,000 ล้านบาท ในลุ่มน้ำที่มีปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ตรงนี้ตรงจุดของการแก้ปัญหาแก่เกษตรกรที่ควรสนับสนุน จะใช้งบประมาณสักเท่าใดหากใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนคงไม่มีใครตำหนิได้
จริงอยู่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ จะออกมาชี้แจงว่าจะไม่กระทบกับเกษตรกรรายย่อยก็ตาม แต่ถึงเวลาหรือยังที่น้ำยังบริหารจัดการกันยังไม่สมบูรณ์ให้พอกิน พอใช้ สร้างความพอเพียงเสียก่อนจึงค่อยคิดค่อยทำ รายได้ส่วนนี้คงไม่มากมายที่จะนำไปพัฒนาประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ แถมยังจะถูกเกษตรกรไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่ ออกมาประท้วงให้เป็นปัญหา ที่น่าแปลกใจคือเจ้ากระทรวงบอกไม่รู้เรื่อง ทั้งที่การออกกฎหมายเป็นเรื่องระดับประเทศที่มีผลกระทบกับประชาชน
สะท้อนให้เห็นว่าหากแต่ละกระทรวงต่างคิดต่างทำ สวนทางกันไปมา ไม่ยึดยุทธศาสตร์มาเป็นแนวทางร่วมกันแล้วประเทศไทย 4.0 คงเกิดยาก
สมควรแล้วที่รัฐบาลจะปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานที่กำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำมาอยู่ด้วยกันที่สำนักนายกรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญยิ่งต่อการบูรณาการอย่างจริงจังกันเสียที