การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนใน สปป.ลาว มีต่อจากการประชุมกลุ่ม จี- 20 ทันที นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสากลที่นาน ๆ ทีจะประจวบเหมาะกันเช่นนี้ การประชุมกลุ่มประเทศ จี-20 ที่หางโจวนั้น จีนแสดงศักยภาพและท่าทีว่าพร้อมที่จะผลักดันการปรับปรุงปฏิรูปโครงสร้างการกำกับควบคุมเศรษฐกิจโลก ต่อไปนี้จีนจะแสดงบทบาทการนำในเวทีเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า มันจะเป็นปัจจัยเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองด้วยหรือไม่ สำหรับการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียนรอบนี้ก็มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากมีประเด็นสำคัญเรื่องอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ นอกอาเซียน ในแง่เศรษฐกิจ อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ เป็นแหล่งผลิตใหญ่ ที่มีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลก มหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างล้วนต้องช่วงชิงหาประโยชน์จากตลาดนี้ ในแง่การเมืองการทหาร อาเซียนเป็นชัยภูมิยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจต้องช่วงชิงการควบคุมดังเห็นได้ชัดจากการที่ประธานาธิบดี ปารัก โอบามา เดินทางมาร่วมประชุมรอบนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสูงสุดของสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนประเทศ สปป.ลาว การเดินทางครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการผลักดันการสร้างดุลอำนาจในเรื่องนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีต่อเอเชีย เป็นครั้งสุดท้าย ตามยุทธศาสตร์การรับมือการขยายอำนาจ ทั้งทางทหารและกองทัพของจีนในภูมิภาคเอเชีย เรื่องที่ควรติดตามคือ อาเซียนจะโน้มเอียงไปใกล้ทางไหนมากกว่ากัน ระหว่างกลุ่ม BRICKSJAM กับกลุ่ม ASEMU (ASEAN + EU + US) พูดตรง ๆ ก็คือ อาเซียนจะรับหมั้นกับจีนหรือจะรับหมั้นกับสหรัฐอเมริกา-สหภาพยุโรป BRICKSJAM เป็นการรวมตัวของประเทศและกลุ่มประเทศ ซึ่งถูกเลือกมาอย่างมีเหตุผล แต่ละประเทศมีความสำคัญในการยึดโยงกันของอำนาจทั่วโลก ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดิย จีน เกาหลีใต้ อัฟริกาใต้ ญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน กลุ่มตะวันออกกลาง การรวมเป็น BRICKJAM เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและอำนาจต่อรองของอาเซียน ลดการพึ่งพากลุ่มมหาอำนาจเดิมที่กำลังถดถอยลง รวมถึงการสร้างสมดุลใหม่ โดยสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่อาจฉุดโลกให้พ้นจากความถดถอยได้ แนวทางการสร้าง BRICKSJAM คือ ผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนหลักในการรวมตัว เนื่องจากอาเซียนมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่รองรับ มีความหลากหลายสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกกลุ่ม ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนควรมองผลประโยชน์ของอาเซียนเป็นหลัก โดยทั้ง 10 ประเทศสมาชิกต้องผนึกกำลังกันอย่างเป็นเอกภาพ เร่งพัฒนาทุกประเทศในทุกด้านให้ดีขึ้นโดยเร็ว เพราะหากอาเซียนมีความเข้มแข็งจะกลายเป็นเกราะกำบัง ช่วยให้เกิดอำนาจต่อรองมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามการร่วมมือในนาม ASEMU เป็นไปเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับโลกตะวันออก โดยเฉพาะจีน และกระชับความสัมพันธ์และสร้างความมั่นใจกับมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิม ว่ายังเป็นพันธมิตรกันอยู่ และสร้างจุดยืนของอาเซียนในความเป็นกลาง รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างโลกตะวันตกมายังโลกตะวันออก โดยให้อาเซียนเปรียบเสมือนประตูสู่ตลาดใหม่แห่งเอเชีย เราคาดเดาได้ว่าผลการประชุมอาเซียนจะแถลงการณ์เป็นกลาง ๆ ไม่แสดงความโน้มเอียงหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง แต่ท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศนั้นจะแตกต่างกันออกไปแน่นอน