รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 ติดลบ 2.6% โดยระบุว่าปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีน
ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมีแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้วคือ ให้คนไทยได้ฉีดวัคซีน 63 ล้านโดส ภายในปี 2564 นี้ แบ่งป็น 2 ระยะคือ มี.ค.-พ.ค. 2 ล้านโดส (วัคซีนของบริษัทซิโนแวค) และ มิ.ย.-ธ.ค. 61 ล้านโดส (วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา) โดยมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน 1,000 แห่งร่วมให้บริการ
กลุ่มเป้าหมายแรกของการฉีดวัคซีนโควิด-19 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน รวม 16 ล้านคน โดยจะเริ่มฉีดวันแรกคือ 7 มิ.ย. 2564 ซึ่งไม่นับคลัสเตอร์คลองเตย คลัสเตอร์สมุทรสาคร กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข ที่ทยอยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
ล่าสุดยอดการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านไลน์ และแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม อัพเดตแล้วกว่า
6.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนกรุงเทพมหานครกว่า 7 แสนคน และส่วนภูมิภาค ต่างจังหวัด ยอดจองรวมกว่า 5.6 ล้านคน (เป็นตัวเลขจอง ฉีดจริงหรือไม่ต้องดูกันต่อ !)
โจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลประยุทธ์ขณะนี้คือ การเร่งจัดหาจำนวนวัคซีนให้ได้ตามแผน และเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นคนไทยกลุ่มใด วัยใด หรืออาชีพใด แต่ปัญหาสำคัญตอนนี้คือ รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร? เพราะในเมื่อปริมาณวัคซีนที่ได้มาไม่สอดคล้องกับแผนที่วางไว้ และเริ่มมีหลายกลุ่มอาชีพเรียกร้องอยากจะฉีดวัคซีนมากขึ้น ๆ เช่น กลุ่มครูอาจารย์ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ให้บริการรถสาธารณะ กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้คนไทยเกือบทุกคนต่างยังรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ กับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลข้างเคียง ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงวัคซีนทางเลือก เป็นต้น
เมื่อทุกคนอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบ “Back to normal” มากกว่า “New normal” เพราะ
นิวนอร์มอลสร้างคุณค่าและมูลค่าแบบกระจุกกลุ่มก้อน วัคซีนโควิด-19 กับ “คนไทย” คงเป็นทางรอดเดียว ณ ตอนนี้ที่จะช่วยสกัดโควิด-19 ทำให้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตเดิม ๆ ได้ ไปเที่ยว ไปสังสรรค์ ไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ และถ้ามองระดับประเทศก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังตัวอย่างความสำเร็จจากผลของการอัดฉีดวัคซีนแล้วในหลายประเทศที่เศรษฐกิจรุ่งไม่ติดลบหรือถดถอยสวนทางโควิด-19 เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี ไต้หวัน
วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2564 นี้ จะได้รู้กันชัด ๆ ว่า คนไทยมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้ตนเองหรือคนในครอบครัวหรือไม่ เชื่อถือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีนจากแหล่งใดมากที่สุด เชื่อมั่นในวัคซีนของบริษัทใด มองว่าการฉีดวัคซีนของประเทศเป็นอย่างไร ความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร และสุดท้ายจะฉีดหรือไม่ฉีด หรือยังไม่แน่ใจ
คงต้องติดตามกันละครับ พลาดไม่ได้อย่างแน่นอน !
แต่ที่อยากถามท่านผู้อ่านดัง ๆ ว่า “ตัวท่านเองพร้อมที่จะฉีดวัคซีนหรือยัง” ครับ