เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit สหรัฐอเมริกาผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้ แร่ธาตุ ทองคำ น้ำมัน แต่เพราะมี “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณภาพ ที่อพยพไปอยู่ก่อนและหลังสงคราม คนอเมริกันได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุด 390 คน สหราชอาณาจักร 134 คน เยอรมนี 109 คน ฝรั่งเศส 71 สหภาพโซเวียต-รัสเซีย 31 คน คนอเมริกันคือผู้อพยพจากยุโรป เอเชียและทวีปอื่นๆ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่รับรางวัลโนเบลหลังสงคราม คือ “หัวกะทิ” จากนานาชาติที่ลี้ภัยไปอเมริกา ลองไปดูบัญชีรายชื่อก็ได้ ล้วนเกิดในเยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ออสเตรีย และประเทศในยุโรป ซึ่งไม่ได้มีแต่ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เยอรมัน-สวิส เชื้อสายยิวที่อพยพไปเมื่อถูกฮิตเลอร์ไล่ล่า แต่มีอัจฉริยะอีกมากมายหลายคนที่ตามไปด้วย อย่างคนที่ฉลาดปราดเปรื่องเรื่องต่างๆ อย่างชาวยิว อพยพไปสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1900 ถึง 1950 ถึง 4 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันนี้มีชาวอเมริกันเชื้อสายยิวอยู่ 7.1 ล้านคน จึงไม่แปลกถ้าหากหลายประเทศในโลกมีจำนวนประชากร มีทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำมัน แร่ธาตุ ไม่น้อยไปกว่าอเมริกา อย่างเม็กซิโก เวเนซุเอลา ไนจีเรีย อินโดนิเซีย แต่ก็ไม่ได้พัฒนาไปเท่ากับสหรัฐฯ ซึ่งมีประชากรที่มีวิชาความรู้ทักษะความสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมากกว่า “ปัจจัยที่ทำให้องค์กรต่างๆ ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของบุคลากรเป็นสำคัญ รวมตลอดถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร ซึ่งมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่ามากกว่าสินทรัพย์ประเภทที่มองเห็นได้เสียอีก (เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร ฯลฯ) สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ คือ ทุนทางปัญญา (intellectual capital) เพราะสิ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในยุคนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบุคลากรหรือเกิดจากทุนมนุษย์ (human capital) จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการต่างประเทศพบว่ามูลค่าขององค์กรมากกว่าร้อยละ 85 มาจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ภายในองค์กร คือทุนทางปัญญานั่นเองที่ผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จมากที่สุด” (ผู้จัดการออนไลน์ 24 กันยายน 2546) เคยถามเพื่อนชาวเยอรมันว่า ทำไมเยอรมนีจึงฟื้นตัวหลังสงครามโลกได้เร็วกว่าประเทศที่ชนะสงครามเสียอีก ทั้งๆ ที่ถูกพันธมิตรถล่มย่อยยับ บ้านเมืองเสียหายไปสุดประมาณ โรงงานอุตสาหกรรมถูกทำลายเกือบหมด เพื่อนตอบว่า ก็เพราะยังเหลือคนเยอรมันอยู่ ไม่ได้ตายหมด คำตอบที่ทำให้เข้าใจว่า ทำไมเยอรมนีและญี่ปุ่นที่แพ้สงคราม และต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินไม่รู้เท่าไร ถูกจำกัดตัดสิทธิ์ต่างๆ มากมาย แต่เจริญก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่ชนะสงคราม พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า “ทรัพยากรมนุษย์” วัดกันที่ “ผลงาน” เหมือนที่มีคำกล่าวกันว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” เพราะนี่คือตรรกะพื้นฐานของนาซีและลัทธิที่มองว่า คนมีค่าต่อเมื่อยัง “มีประโยชน์” หรือยัง “ผลิตได้” (productive) เท่านั้น จึงไม่แปลกที่นาซีไม่ได้นำแต่ชาวยิวไปขังในค่ายกักกันจนตาย แต่รวมไปถึง “คนที่ไม่มีประโยชน์” จากมาตรวัดของพวกเขา คือ คนแก่ คนพิการ คนเจ็บป่วยเรื้อรัง คนรักเพศเดียวกันที่พวกเขาถือว่าวิปริต นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม นาซีถือว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ต่างจากสัตว์ เมื่อใช้งานไม่ได้หรือน่ารังเกียจก็เอาไปเชือด สำหรับนาซีและอีกบางลัทธิการเมืองสุดขั้ว ไม่มีคำว่า “ศักดิ์ศรี” ความเป็นคน ซึ่งความจริง เป็นสำนึกที่อยู่ลึกสุดในจิตวิญญาณของมนุษย์ ไม่เช่นนั้น “บันทึกของแอน แฟรงค์” คงไม่สะเทือนใจ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนทั่วโลก ที่เปิดเผยความฝันของเด็กหญิงชาวยิวที่หลบหนีนาซีอยู่ห้องใต้หลังคาบ้านหลายปี ที่สุดถูกพบ ถูกนำไปค่ายกักกันและเสียชีวิต ไดอารี่ของเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองหลังสงคราม จึงได้เห็นจารึกไว้ในมาตรา 1 รัฐธรรมนูญของเยอรมันว่า “(1) ศักดิ์ศรีของคนมิอาจละเมิดได้ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเคารพและปกป้อง (2) ประชาชนเยอรมนียอมรับว่า สิทธิมนุษยชนที่ล่วงละเมิดมิได้และไม่แปลกแยกนี้ คือพื้นฐานของประชาคมทุกแห่ง ของสันติภาพและสันติภาพของโลก” เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กลายเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองเพื่อกดดัน ต่อรองให้เกิดการเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไทยเราจึงถูกตัดสิทธิ์เรื่องการประมงหลายปี ถูกประเมินเรื่อง “การค้ามนุษย์” ที่ถูกโยงไปถึงสิทธิทางการค้า เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังที่เป็นประเด็นการเมืองระหว่างสหรัฐ ยุโรปกับจีน เรื่องแรงงานอุยกูร์ เรื่องศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์เป็น “อุดมคติ” ที่ยังต้องไขว่คว้า ประชาธิปไตยเกือบสองพันปีตั้งแต่กรีกมาจนถึงต้นเมื่อร้อยปีที่แล้วเป็นเรื่องของ “ผู้ชาย” สตรีเพิ่งมีสิทธิทางการเมือง เพิ่งได้รับการ “ปลดปล่อย” ด้วยภูมิปัญญาสตรีอย่างซีโมน เดอ โบวัวร์ จากงานเขียน “เพศที่สอง” ของเธอในปี 1949 ที่วิพากษ์เรื่องสตรีตลอดประวัติศาสตร์ ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม และการเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ตลอดมา จนถึงวันนี้ การเรียกร้องสิทธิเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ ระหว่างสีผิว เผ่าพันธุ์ ระหว่าง “ชนชั้น” ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วโลกทุกวัน โดยเฉพาะที่สหรัฐฯและยุโรป ที่รวมของเผ่าพันธุ์จากทั่วโลก มี “การปะทะ” ระหว่างวัฒนธรรมสูง เรื่องเปราะบางที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง อาชญากรรม ด้วยเหตุนี้ กรอบใหญ่ของ “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” (Sustainable Development Goals) 3 กรอบของสหประชาชาติ จึงเป็น 1. มาจากข้างล่าง (bottom up) 2. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (human dignity) ให้ความสำคัญพิเศษต่อเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ คนชายขอบคนด้อยโอกาส 3. ความพอเพียง ปัญหาบ้านเมืองเราทุกวันนี้ก็มาจากฐานคิดเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี่เอง