เรื่องพระพรหมดิลก เจ้าคณะกรุงเทพมหานครออกหนังสือห้ามติดป้ายโฆษณาและขายวัตถุมงคลภายในพระอุโบสถนั้น “ข่าวชาวบ้าน” ยังเข้าใจสับสน เรื่องนี้ต้องเตือนสื่อมวลชนและผู้เล่าข่าวทางโทรทัศน์วิทยุ ระมัดระวังในการพาดหัวข่าวที่อาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด
คำสั่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครนั้น เป็นเรื่องห้ามติดป้ายโฆษณาขายพระเท่านั้น วไม่ได้เป็นคำสั่งห้ามเช่าบูชา ห้ามจำหน่ายวัตถุมงคลในวัด หรือห้ามสร้างพระวัตถุมงคลในเขตวัดแต่อย่างใด คำสั่งนั้นเป็นเพียงการแจ้งให้วัดทราบว่าไม่ควรจำหน่ายพระบูชาวัตถุมงคลและเทวรูปต่างๆบริเวณพระอุโบสถหรืออุโบสถเท่านั้น เนื่องจากพระอุโบสถหรืออุโบสถ เป็นสถานที่ที่พระภิกษุใช้ทำสังฆกรรมตามพระวินัยและเป็นสถานที่สำคัญ ไม่ควรนำวัตถุมงคลมาตั้งวางจำหน่ายซึ่งจะดูไม่เหมาะสม วัดควรจัดหาสถานที่เป็นการเฉพาะสำหรับการจำหน่ายวัตถุมงคลให้เป็นสัดส่วนแยกออกไปจากพระอุโบสถอย่างเด็ดขาด
สำหรับเรื่องพระเครื่อง วัตถุมงคลนั้น ก็มิใช่ปัญหาใหญ่ที่กระแสสังคมกำลังวิพากย์วิจารณ์วงการสงฆ์อยู่ขณะนี้
การกวดขันเรื่องพฤติกรรมของสงฆ์ที่ไม่ถูกไม่ควรนั้น เราเห็นว่าคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้มากกว่า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ใช้อำ นาจตามความในข้อ 7 (1) ถึง (5) แห่งกฏมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองสงฆ์ มีคำสั่งให้พระสังฆาธิการตรวจสอบพฤติกรรมและลงโทษพระภิกษุสามเณรในปกครอง ดังต่อไปนี้
1. ให้ตรวจสอบไม่ให้พระภิกษุสามเณร ทำการอันละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หากพบให้พระสังฆาธิการดำเนินการตามกฎ ข้อบังคับ หรือประกาศมหาเถรสมาคม และประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้าดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
2. ห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงตนในทางกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขของประชาชน หรือส่อไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น ทำลาย ก้าวร้าวรุนแรง และไม่สร้างสรรค์
3. พระภิกษุสามเณรผู้มีความประพฤติเสียหาย หรือไม่เหมาะสม เป็นที่ติเตียนของประชาชนในลักษณะโลกวัชชะ เช่น การแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตน การแสดงกิริยาวาจาไม่สมสมณสารูป การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ไม่เหมาะสม การใช้อุปกรณ์สื่อสารผิดกาลเทศะ การไปในสถานที่ไม่สมควรแก่บรรพชิต ให้พระสังฆาธิการกวดขันควบคุมพฤติกรรมดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
4. พระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติตนไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และไม่รักษาเชิดชูพระธรรมวินัย ให้พระสังฆาธิการกวดขันมิให้ประพฤติโดยเด็ดขาดคำสั่งนี้ยังระบุด้วยว่า พระสังฆาธิการรูปใดไม่ดำเนินการ หรือย่อหย่อนในการสำรวจ ตรวจสอบ และไม่จัดการต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการพุทธศาสนิกอนุโมทนาปลาบปลื้อมยินดีกับคำสั่งนี้มาก เราเข้าใจดีว่า การปฏิบัติตามหลักการข้างต้น ยังไม่อาจแก้ไขเรื่องพฤติกรรมไม่ถูกไม่ควรของพระสงฆ์ได้สมบูรณ์ทันทีทันใด แต่การเริ่มต้นเข้มงวดเคร่งครัดพระวินัยขึ้นอย่างนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดี สังคมทุกภาคส่วนต้องสนับสนุน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อไป