"เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบและขจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล มิให้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อันเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดตลอดมา ในการปกครองบ้านเมือง
โดยเฉพาะปัญหาในด้านจริยธรรม ของผู้บริหารที่ขาดความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจ (trust) จากประชาชน แต่ยังไม่ยอมออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าประชาชนเป็นผู้เลือกให้ทำหน้าที่แทนราษฎร ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา และล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน"
วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุตอนหนึ่งในการแสดงความเห็นต่อกรณี คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ต้องพ้นสถานะรัฐมนตรี กรณีต้องคำพิพากษาจำคุกคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย
แน่นอนว่า ลำพังการรับมือกับการรุกไล่ของ "ฝ่ายค้าน" ที่ถล่มการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทั้งการเร่งตรวจเชิงรุก ไปจนถึงการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ทั่วประเทศก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากพออยู่แล้ว
แต่ยังกลายเป็นว่า ในระหว่างนี้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานจากในรัฐบาลด้วยกันเอง ผสมปนเปไปกับแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้าน ต่อกรณีร.อ.ธรรมนัส ชนิดที่ว่า ยากจะจบสั้นหรือได้ข้อยุติ
นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่สิ้นสุดความเป็นส.ส.และรัฐมนตรี เนื่องจากความผิดที่ถูกตัดสินโดยศาลที่ประเทศออสเตรเลีย นั้นไม่ถือเป็นคำพิพากษาของ "ศาลไทย" เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า "แรงกดดัน" จากผู้คนในสังคม ไม่ได้แผ่วลงไป
ยิ่งเมื่อมีความเห็นจาก วิชา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ที่นายกฯ แต่งตั้งให้เข้ามานั่งเป็น "ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน" คือคดีของ "บอส อยู่วิทยา" คดีใหญ่
ยิ่งทำให้เกิดภาพสะท้อนที่คมชัด ว่า บัดนี้คนที่นายกฯให้ความไว้วางใจ แต่งตั้งเข้ามาดูแลคดีความสำคัญ ยังอดที่จะ "ตั้งข้อสังเกต" ตั้งคำถามต่อประเด็นที่เชื่อมโยงกับ ร.อ.ธรรมนัส ว่า "ผล" จากคำวินิจฉัยในคดีนี้ เพียงคดีเดียวกำลังสร้าง "แรงกระทบ" ต่อ "ใคร" และ "อะไร" บ้าง ?
จากไปนี้อีกหลายสัปดาห์มีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงใช้รูปแบบการสื่อสารในลักษณะ "ทางเดียว" นั่นคือการแถลงข่าวผ่านเพจเฟซบุคของรัฐบาล ตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด ที่ยังไม่อนุญาตให้สื่อมวงลชนเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลได้
หมายความว่า ในระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะได้ใช้เวลาไปกับการมุ่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ไปพร้อมๆกับการ "คุมให้อยู่" โดย "เว้นวรรค" เรื่องตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับ "การเมือง" ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของ "จริยธรรม" ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" อย่างร.อ.ธรรมนัส นั้นจะเลือกเส้นทางใด
การมีร.อ.ธรรมนัส เอาไว้ในครม. ไปพร้อมๆกับการที่ถูกสังคมและฝ่ายค้านกระหน่ำด้วยประเด็น "จริยธรรม" ไปจนถึงการกดดันให้แสดงสปิริต ไม่ควรเกิดขึ้นจนกลายเป็น "ปัญหา" ที่เข้ามา "ซ้ำซ้อน" กับเรื่องไวรัสโควิด ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ไปเรียบร้อยแล้ว เสียด้วยซ้ำ!!