เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit เมื่อปี 2547 ผมไปมะนิลาเป็นเพื่อนลุงประยงค์ รณรงค์ ที่ไปรับรางวัลแมกไซไซ ช่วยเป็นล่าม เขาให้ไป 9 วัน และให้ลุงไปพูดหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ลุงประยงค์เล่าเรื่องตำบลไม้เรียง นครศรีธรรมราช ว่าพัฒนาเป็นชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร เมื่อพูดจบ ประธานธนาคารลุกขึ้นบอกว่า “ขอบคุณมากครับที่มาสอนเราชาวธนาคารว่า เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ เพราะถ้าแก้ได้คงแก้นานแล้วเพราะโลกไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดปัญญาอย่างที่ท่านได้ใช้ที่ชุมชนของท่าน” จากนั้นเขาขออนุญาตพูดต่ออีกเล็กน้อยว่า “ประเทศฟิลิปปินส์มีคนออกไปทำงานต่างประเทศประมาณ 8 ล้านคน มีทั้งหมอ พยาบาล ครูอาจารย์ นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงแรงงาน แม่บ้าน เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ ส่งเงินกลับมาบ้านปีละประมาณ 500,000 ล้านบาท แต่ไม่พอเพื่อพัฒนาประเทศ เพราะฟิลิปปินส์ไม่ได้ต้องการแค่เงิน แต่ต้องการคนฟิลิปปินส์กลับมาพัฒนาบ้านเมือง” ผมเล่าเรื่องนี้วันนี้ ที่มีการรณรงค์ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรพิจารณากันให้ดี คงไม่ใช่แค่เรื่องเสียดสีประชดประชัน เพราะคนเกือบล้านที่ “เข้าร่วมขบวนการ” ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา เป็นที่ถกเถียงในแวดวงสื่อและการเมือง มีทั้งคนไล่ส่งและคนที่สนใจเข้าร่วมมากขึ้น ลองคิดว่า ถ้าคนเหล่านี้มีทั้งหมอ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญ ถ้าคนที่อยู่ในวัยแรงงานไม่ว่าระดับใด ล้วนเป็นกำลังสำคัญให้บ้านเมืองทั้งนั้น ไม่มีคนเหล่านี้ก็เหมือนกับสูญเสียบุคลากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็เหมือนกับที่เราไม่อยากให้มีคนตายเพราะโควิดและหาวิธีป้องกัน เราก็ไม่ควรอยากให้ใครไปจากประเทศไทย เพราะ “ทนไม่ไหวแล้ว” ไม่มีประโยชน์ที่จะไป “ไล่ส่ง” เพราะเท่ากับเพิ่มความขัดแย้ง แต่ควรตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาจึงคิดเช่นนั้น บ้านเมืองเราเป็นอย่างไรทำให้พวกเขาอยากย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ไม่ใช่ให้เห็นใจหรือไล่ส่ง แต่ให้ตั้งสติกันทุกฝ่าย เพื่อช่วยกันทำให้บ้านเมืองนี้ “น่าอยู่” กว่านี้ เมื่อปี 2001 ที่ตึกเวิร์ลเทรดที่นิวยอร์กโดนถล่ม คนตายหลายพันคน บาทหลวงเยซุอิตชาวอเมริกันที่กรุงเทพฯ เขียนจดหมายถึงญาติพี่น้องที่อเมริกา แสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ตั้งคำถามว่า “เราควรถามตัวเองด้วยเหมือนกันว่า เราทำอะไรไม่ดีกับเขาหรือทำอะไรผิดหรือเขาถึงโกรธเกลียดเราขนาดนั้น” คุณพ่อเยซุอิตเล่าในขณะเทศน์ในมิสซาวันอาทิตย์ว่า ท่านได้รับจดหมายตอบกลับ “ด่า” ท่านไม่มีดี หาว่าท่านไม่รักชาติ ไม่รักอเมริกา เรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่เป็นเรื่องธรรมดาเสมอมาในประวัติศาสตร์ทั่วโลก ด้วยเหตุผลนานัปประการ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ สังคมการเมือง ความอดอยากหิวโหย ความขัดแย้ง สงคราม หรือเพราะต้องการชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งก็เป็นเสรีภาพของบุคคล และคงหนีคดีด้วย แต่จะสักกี่คน วันนี้มีคนไทยไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่งงานกับคนต่างชาติ ไปศึกษา ไปทำงาน รวมทั่วโลกประมาณ 1.5 ล้านคน ที่สหรัฐ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ตะวันออกกลาง และอื่นๆ คนไทยส่วนหนึ่งคงไม่ได้คิดจะกลับเมืองไทย เพราะมีครอบครัว มีอาชีพ แต่นักศึกษา แรงงาน คงตั้งใจจะกลับมาเมื่อเรียนจบ หรือเมื่อหมดสัญญาหรือเมื่อได้เงินสักก้อนหนึ่ง แต่สถานการณ์บ้านเมืองไทยวันนี้อาจทำให้หลายคนลังเล และหาทางที่จะอยู่ในประเทศเหล่านั้นต่อไป ซึ่งคงทำได้หลายวิธี อยู่นานๆ ก็รู้วิธีการ คนเวียดนามหนีภัยสงครามไปอยู่ประเทศที่สามหลายล้านคน ล้วนแต่หัวกะทิ จนมีคนบอกว่า ร้อยละ 20 ของผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในฝรั่งเศสเป็นคนเชื้อสายเวียดนาม รวมทั้งที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลืมบ้านเกิด ส่วนหนึ่งก็กลับไปหลังสงคราม ไปช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง และกำลังแซงหน้าไทย ควรใจกว้างพิจารณาเรื่องที่กำลังเกิดนี้ โดยหันมาดูกำพืดและรากเหง้าของเราแต่ละคนว่า บรรพบุรุษจากจากเมืองจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า มาเลย์ อินโดฯ อินเดีย ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา จนมีนักวิชาการตั้งคำถามว่า “คนไทยแท้มีด้วยหรือ” คนไทยแท้มาจากไหน เราทุกคนล้วนเป็นคน “ต่างด้าวท้าวต่างแดน” มาก่อน บรรพบุรุษอพยพย้ายถิ่นมาจากที่อื่น เพื่อมาหาที่อุดมสมบูรณ์กว่า ปลอดภัย มั่นคงกว่าให้ตัวเองและลูกหลาน ถ้าหากถิ่นฐานบ้านเก่าดีอยู่แล้ว พวกเขาคงไม่ย้ายมาอยู่ใน “สุวรรณภูมิ” แห่งนี้ และถ้าหากอยู่แล้วมีปัญหา ถูกกดขี่ข่มเหงเบียดเบียนเอาเปรียบก็หนีไปอยู่บนเขาบนดอยเหมือนชาวเขาเผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ต้องการอยู่ใต้อาณัติของอำนาจรัฐ ที่เกณฑ์คนมาทำไร่ทำนา มาทำงาน มาเป็นทหาร หนีไปบนเขาเข้าป่าดีกว่า วันนี้ไม่มีป่ามีเขาให้เข้าไปอยู่ ก็มีประเทศอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ย้ายไปอยู่ได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และคนที่จะย้ายไปได้จริงๆ ก็เป็น “หัวกะทิ” เท่านั้น ที่ประเทศเหล่านั้นจะเลือกออกวีซ่าให้ เพื่อไปพัฒนาบ้านเมืองของเขา เหมือนกับที่ประเทศที่สามที่พัฒนาแล้วมาคัดเลือกเอา “คนเก่งๆ” จากค่ายผู้ลี้ภัยอินโดจีนในไทยระหว่างและหลังสงครามเวียดนาม ไม่เอากรรมกร ชาวนาชาวไร่ ปล่อยให้อยู่ในประเทศไทย แม้บ้านเราอาจจะไม่ฆ่ากันอย่างประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ แต่จิตใจที่เกลียดชังกัน แบ่งฝ่ายและห้ำหั่นกันด้วยความรุนแรงจากคำพูด ก็ร้ายแรงไม่แพ้กัน ปัญหาความไม่เป็นธรรม ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คงไม่อาจแก้ได้ด้วยความรุนแรง ที่สุดก็ต้องหันหน้ามานั่งเจรจากัน ไม่เช่นนั้นก็คงบรรลัยทั้งสองฝ่าย แล้วใครยังจะมีความสุขบนโศกนาฏกรรมของสังคม