จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอก 3 ที่ไม่มีทีท่าว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงต่ำกว่าหลักพัน และสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด
เพราะแม้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิต แต่อีกมุมของชีวิตที่ต้องทำมาหากิน แม้ไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิว เป็นเพียงการปิดผับ บาร์ สถานบริการ พร้อมขอความร่วมมือห้ามออกนอกเคหะสถานหลัง 21.00 น. ร้านอาหารขายได้ไม่เกิน 21.00 น. และห้ามนั่งรับประทานในร้าน ให้สั่งกลับบ้านเท่านั้น ห้างสรรพสินค้าปิด 2 ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อลดเวลาการเปิดลง แต่เพียงเท่านั้นก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนแล้ว
ทั้งนี้หลายฝ่ายเฝ้าจับตา โครงการยอดนิยม ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ได้รับเสียงชื่นชมมาแล้ว สำหรับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง ม.33 เรารักกัน
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม2564 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วน โครงการเราชนะจำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน เพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท โดยให้การใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64
โดยโครงการม.33 เรารักกัน จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ วงเงินรวม 18,500 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64
สำหรับ มาตรการในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.4 แสนล้านบาท โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่เหลืออยู่ ได้แก่
1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ในกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ประชาชน 13.65 ล้านคน โดยให้เงินค่าครองชีพแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค. - ธ.ค.) และเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจำนวนเป้าหมาย 2.4 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค. - ธ.ค.)
2.มาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลาง และรายได้สูงได้แก่ มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายที่รัฐจะสมทบได้วันละไม่เกิน 150 บาท วงเงินคนละ 3,000 บาทต่อคน
ขณะที่โครงการยิ่งใช้ยิ่งดี โดยรัฐสนับสนุน E-Voucher ให้กับประชาชน ที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวันสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยประชาชนใช้จ่ายจะได้รับการสนับสนุน E-Voucher จากภาครัฐในช่วง ก.ค. - ก.ย.64 ไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค. -ธ.ค.64 คาดว่าประชาชนจะเข้าโครงการประมาณ 31 ล้านคน
ทั้งนี้เชื่อว่า เมื่อเม็ดเงินอัดฉีดออกไป จะช่วยเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ประคองให้พ้นภาวะวิกฤติในระยะสั้น และนั่นหมายความว่า ต้องสกัดวิกฤติให้จบเร็วที่สุด จนกว่าจะได้ลืมตาอ้าปากกันอย่างเต็มที่ เมื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีน