เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
โลกวันนี้อยู่ได้ด้วยการบริหารจัดการข้อมูล มือถือเล็กๆ เป็นเครื่องมือเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้แทบไร้ขีดจำกัด ปัญญาประดิษฐทั้งหลายล้วนมาจากความสามารถในการใช้ข้อมูล การประมวลข้อมูล การบังคับใช้ข้อมูลด้วยเทคโนโลยียุคดิจิตอล
ประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบเพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จึงรู้ก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรว่า ปีนี้ประเทศไหนจะผลิตอะไรได้เท่าไร จะกำหนดราคาล่วงหน้าเท่าไร วันนี้ยังบอกได้อีกว่า ประเทศไทยประเทศไหนต้องการอะไร จะบริโภคอะไร จะใช้อะไรเท่าไร
บริษัทค้าปลีกค้าส่งยักษ์ใหญ่ทั้งหลายรู้เป็นเรียลไทม์ หรือรู้ได้ทันที่มีการจ่ายเงินซื้อสินค้าอย่างหนึ่งที่เค้าน์เตอร์ว่าจะต้องให้ฝ่ายจัดส่งส่งสินค้าอะไรไปที่ไหนจำนวนเท่าไร ไม่ปล่อยให้หิ้งว่าง
การจราจรในประเทศพัฒนาแล้วบริหารจัดการด้วยข้อมูลว่า ถนนไหนมีรถเท่าไร จะเปิดไฟแดงที่ไหน นานเท่าไร จะระบายรถจากถนนต่างๆ อย่างไรจึงจะไม่ติด (อย่างกรุงเทพฯ)
คนที่มีเทคโนโลยีทันสมัยสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้คน ข้อมูลสุขภาพ อาชีพ รายได้ รวมไปถึงพฤติกรรมของการบริโภค การดำเนินชีวิต เข้าถึงข้อมูลของชุมชน เมืองเล็กเมืองใหญ่ เพื่อนำไปหาวิธีบริหารจัดการตอบสนองความต้องการของผู้คนและชุมชนให้มากที่สุด
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารทำให้ช่องว่างระหว่างผู้คนห่างออกไปทุกที คนจนกับคนรวย คนไม่มีความรู้กับคนมีความรู้ คนไฮเทคกับคนโลว์เทคโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยในยุคบิ๊กดาต้าวันนี้จึงไม่ใช่เพียงการใช้ข้อมูลใหญ่ในการบริหารราชการ บริหารเมือง บริหารธุรกิจ แต่ทำอย่างไรช่วยให้คนที่ขาดโอกาส คนจน คนมีความรู้การศึกษาน้อยสามารถมีที่ยืนในสังคมข้อมูลข่าวสารความรู้อย่างวันนี้
มีหลายอย่าง หลายมิติที่บิ๊กดาต้าไม่สามารถเข้าถึงหรือมีข้อจำกัด แต่ “ชาวบ้าน” ทำได้ เข้าถึงได้ จัดการได้ดีกว่า คือ “จิตวิญญาณ” ความรู้สึกนึกคิดที่วัดไม่ได้ด้วยกิจกรรมหรือรูปธรรมภายนอกอย่างเดียว ซึ่งเป็นหัวใจของทุนทางสังคม ทุนทางปัญญาและแม้แต่ทุนทรัพยากร ซึ่งสืบทอดมาทางวิถีของชุมชน
เมื่อชุมชนในตำบลแห่งหนึ่งของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ค้นหาข้อมูลทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองได้พบว่า มีผักอยู่ 131 ชนิด ไม้ผลไม้ใช้สอย 109 ชนิด สมุนไพรพืชเถา 116 ชนิด สัตว์ แมลง ของป่า 275 ชนิด รวม 746 ชนิด
จากนั้นชาวบ้านได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า อะไรหายไปหายากควรฟื้นฟูอนุรักษ์ไว้ ขยายพันธุ์ อะไรนำมากินมาใช้มาขายได้ จะได้มีเหลือให้ลูกหลานด้วย นั่นคือการจัดการทรัพยากรอย่างมีข้อมูล หลายสิบปีที่ผ่านมาทั่วไปไม่ได้ทำกันอย่างนี้ ทรัพยากรถึงได้หมดไปเพราะเอามากินมาใช้มาขายแบบล้างผลาญ
ชาวบ้านที่ศูนย์อินแปง บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เคยทำการวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากองค์กรพัฒนาเอกชนโดยการสนับสนุนของสภาวิจัยแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลว่า 40-50 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไปหาอยู่หากินในรัศมี 15 ก.ม. ที่ไหน หาอะไร ได้อะไร หน้าไหน เอามาทำอาหารอะไร ทำอย่างไร ให้คุณค่าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของชาวบ้านอย่างไร เช่น หน้าไหนกินอะไรเพื่อจะได้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ผลการวิจัยน่าสนใจมาก ชาวบ้านได้เรียนรู้จากคนเฒ่าคนแก่ว่า แต่ก่อนนั้นในธรรมชาติที่ไหนมีอะไร มีข้าวถึง 27 สายพันธุ์ มีผักป่าผักทุ่ง กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด แมลง สัตว์น้ำสัตว์บกมากมาย ส่วนหนึ่งหายไปหรือใกล้สูญพันธุ์เพราะเอาไปขาย หรือเพราะการใช้สารเคมี เปลี่ยนวิถีการผลิตการอยู่การกิน
การเรียนรู้ข้อมูลดังกล่าว เป็นการเชื่อมอดีตกับปัจจุบันเพื่อสานอนาคต จะได้วางแผนการจัดการทรัพยากร จัดการการกินการอยู่ของตนเอง “อย่างมีข้อมูล” ไม่ใช่คิดอย่างเดียวว่า เมื่อหาของป่าไปขายไม่ได้ก็ไปรับจ้างในเมือง เพราะมีข้อมูลแล้วเชื่อมโยงเป็นก็ได้ความรู้ เอาความรู้ไปสู่การปฏิบัติก็เกิดปัญญา
การทำแผนแม่บทชุมชนหรือที่เรียกกันว่า “ประชาพิจัย” ก็เป็นเครื่องมือในการทำข้อมูลของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน ข้อมูลรอบด้าน ไม่ใช่แต่เพียงปัญหาและความต้องการ แต่ข้อมูลทางสังคม ประวัติความเป็นมา รากเหง้าของชุมชน ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมต่างๆ แล้วจึงไปถึงข้อมูลรายรับรายจ่าย การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนว่า จะทำ “แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชน” ได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ตามบุญตามกรรม ไม่มีแบบไม่มีแผน ไม่มีเป้าหมาย ให้คนอื่นกำหนดชีวิตของตนเอง
หลายปีก่อน ได้นำ “ประชาพิจัย” ไปใช้ในโครงการวิจัยเอดส์กับชุมชนให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เชียงใหม่ เมื่อวิจัยเสร็จ อาจารย์จากฮาร์วาร์ดมาประเมิน ถามผู้นำชุมชนว่า ทำโครงการนี้ได้อะไร เขาตอบว่า “ได้กำกึด” (ได้ความคิด) แล้วอธิบายว่า เมื่อก่อนเขาคิดว่า ทำงานเอดส์ก็ต้องใช้เงิน ไม่มีเงินทำไม่ได้ เด็กกำพร้าพ่อแม่ตายเพราะเอดส์ อยู่กับตายาย ต้องการเงินซื้อนมซื้อเสื้อผ้า อาหาร ยา แต่ทำวิจัยแล้วพบว่า มี “ทุน” และปัจจัยอีกมากมายหลายอย่างที่ดีกว่าเงินเสียอีก บิ๊กดาต้าของชุมชนเป็นคำถามที่รัฐบาลและสังคมดิจิตอลอาจมองข้าม ชาวบ้านสามารถพัฒนาตนเองได้ถ้าหากบริหารจัดการข้อมูลของตนเองเป็น มีอะไรมากกว่าที่คิด เป็นอะไรได้มากกว่าที่ฝัน