สมบัติ ภู่กาญจน์ นับจากวันนั้น มาจนถึงวัน(ที่ 9 ตุลาคม 2560 ที่กำลังจะมาถึง) นี้ อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ตายจากโลกนี้ไปแล้ว 22 ปี ขออนุญาต ‘ระลึกความหลัง’ หน่อยได้ไหมครับ? ตามประสาอะไรเห็นจะไม่ต้องบอก – ความหลังนี้ผมบันทึกไว้ 22 ปีมาแล้ว และได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ‘พลอยแกมเพชร’ ฉบับที่ 93 ปีที่ 4 ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2538 และได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์คึกฤทธิ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม ปีเดียวกัน ถึงวันนี้ ทั้งอาจารย์คึกฤทธิ์ และทั้งนิตยสารพลอยแกมเพชร ล้วนแต่ไม่ดำรงอยู่ในยุคปัจจุบันนี้แล้วทั้งคู่ แต่ตัวผมเองยังอยู่ และยังมีสติ สัมปชัญญะ พอที่จะระลึกถึงความหลัง ได้ดังนี้ ********** ********** วันนั้นเป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2538 เวลาสิบโมงห้าสิบแปดนาที “อาจารย์คึกฤทธิ์สิ้นใจแล้ว” คือข้อความที่ผมได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ ใจผมหายไปวูบใหญ่เมื่อนึกว่า ‘วันนั้น’ มาถึงแล้วหรือนี่ เพียงสี่วันที่ผ่านมานี้เอง ที่ผมเข้าไปเยี่ยมอาจารย์คึกฤทธิ์ครั้งสุดท้าย เห็นภาพอาจารย์นอนอยู่บนเตียงคนไข้ในห้องไอซียูหมายเลข 14 ของโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ตั้งชื่อให้ จากชื่อสามสี่ชื่อที่ผมเป็นคนค้นหาคัดเลือกแล้วส่งให้อาจารย์ ร่างของอาจารย์ มีสายระโยงระยางจากเครื่องมือรูปร่างแปลกๆ ที่มีทั้งเสียงและภาพปรากฎอยู่ตลอดเวลา สายทุกสายต่อกับร่างกายหลายส่วนของอาจารย์นับตั้งแต่จมูก ลำคอ แขน ซึ่งส่วนอื่นจะมีอีกหรือเปล่าผมมองไม่เห็น เพราะร่างกายของอาจารย์มีผ้าแพรสีบานเย็นคลุมอยู่ตั้งแต่อกถึงเท้า การหายใจของอาจารย์ในขณะนั้น แม้จะแรงแต่ก็สม่ำเสมอ และกราฟบนเครื่องมือต่างๆก็ยังทำงานแบบปกติดี นอกจากสายอีกสายหนึ่งซึ่งมีของเหลวสีแดงเหมือนโลหิตอยู่ในสายนั้นที่มีการสั่นเคลื่อนไหวอยู่ไปมา อาจารย์นอนไม่รู้สึกตัวเช่นนี้มาหลายสัปดาห์อยู่ อย่างน้อยก็จากการเยี่ยมสี่ครั้งหลังของผม ที่ผมไม่เห็นปฏิกิริยารับรู้ใดๆทั้งนั้นของอาจารย์คึกฤทธิ์ ทุกครั้งที่เข้าไป ผมยกมือไหว้อาจารย์ทุกครั้งเหมือนที่เคยปฏิบัติเมื่อพบกัน ไหว้ด้วยความคิดที่มีอยู่ในใจว่า ถึงอาจารย์จะไม่รับรู้แล้ว แต่ขณะนี้ผมยังรับรู้อยู่ และขอเข้ามาเยี่ยมอาจารย์ ‘ด้วยใจ’ก็แล้วกัน ช่วงนั้นใจก็ขยายความคิดต่อไปถึงคำพูดของอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เคยพูดกับผมไว้ว่า “กรรมหรือเวรของคนเรานั้น บางทีก็ดูกันได้ ที่ว่าจะตายอย่างทรมานหรือไม่ทรมาน ตัวผมเองยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะตายอย่างไร? แต่ที่ไม่ชอบเลยก็คือ กลัวว่าจะต้องอยู่อย่างทรมานคนอยู่เขา อย่างประเภทที่เรียกว่านอนเป็นผัก คือจะตายก็ไม่ตายจะฟื้นก็ไม่ฟื้น นั้นมันทรมานคนอยู่จริงๆ ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้นเลยละ ก็ฝากคุณดูแลผมด้วยก็แล้วกัน ถ้าเห็นว่ามันจะเป็นอย่างนั้น ก็ช่วยถอดปลั๊กออกให้ทีเถิด จะขอบใจมากทีเดียวละ” ผมยืนเยี่ยมอาจารย์อยู่ครั้งหลังๆด้วยความคิดถึงคำพูดนี้ เคยคิดว่าถ้าผมเป็นลูกของอาจารย์จริงๆผมจะกล้าทำอย่างนั้นหรือไม่กล้า? ผมตอบไม่ถูกและเลิกคิด เมื่อได้เห็นแขนขวาของอาจารย์มีความเคลื่อนไหวน้อยๆ “อย่างน้อยอาจารย์ก็ยังไม่เป็นผักหรอกครับ” ผมคิด แต่ไม่รู้ว่าอาจารย์จะทรมานหรือไม่ทรมาน ผมยืนดูพยาบาลเข้ามาจัดผ้าห่มให้อาจารย์ใหม่ ได้เห็นผิวของอาจารย์มีสีดำคล้ำไปทั่วร่างที่ซูบซีดลงอย่างน่าประหวั่นใจ ซึ่งทราบภายหลังการเยี่ยมว่าเกิดจากการที่ร่างกายเริ่มปฏิเสธเลือดและอาหาร เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยืนระลึกถึงอาจารย์ถึงเรื่องราวถึงคำพูดของอาจารย์อยู่พักหนึ่ง แล้วผมก็ยกมือไหว้อาจารย์อีกครั้ง แล้วก็ออกมาจากห้องไอซียู “คนเรามันก็ต้องตายกันทุกคนแหละ สมบัติเอ๊ย” ผมจำได้ว่าเมื่อผมอายุสี่สิบ ผมเคยคุยกับอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงเรื่องของความตาย อันเป็นส่วนหนึ่งของสามัญญลักษณะตามคำสอนของพุทธศาสนา ผมตั้งคำถามอาจารย์ว่า “อาการอย่างนี้จะเรียกว่าเริ่มแก่แล้วหรือเปล่าครับ ที่เราพบว่า คนที่เรารู้จักเริ่มจะตายจากไป .... ผมจำได้ว่าพบความตายสำคัญครั้งแรกคือ พ่อผม จากนั้นอีกหลายปีต่อมาก็แม่ และจากนั้นก็คนรู้จัก แล้วก็เพื่อนบ้าง ลูกน้องบ้าง ที่เริ่มทะยอยจากไป ทุกปี ทุกปี” “แล้วไง” อาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “ก็ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ นั่นมันเป็นสิ่งที่มีใครหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่าล่ะ? คุณเองก็บวชเรียนมาแล้ว จะสงสัยมันทำไม?” ผมตอบอาจารย์ว่า ผมไม่ได้สงสัยในธรรมชาตินั้น แต่ผมกำลังสงสัยในความชราว่ามันเป็นอย่างไร สงสัยว่าสิ่งที่ผมกำลังเผชิญอยู่นี้มันเรียกว่าความชราได้หรือเปล่า หรือว่าเมื่อเราจะต้องเผชิญกับความชราแล้ว เราควรจะทำอย่างไรดี? อาจารย์คึกฤทธิ์รำพึงว่า “น่าคิด” แล้วก็กล่าวต่อไปว่า “คนหนุ่มกับคนแก่มันก็ต่างกันตรงนี้ละ คือคนแก่มันเคยเป็นคนหนุ่มมาแล้ว แต่คนหนุ่มมันยังไม่เคยแก่มาก่อน” พูดแล้วอาจารย์ก็สรุปว่า “วันหลังผมจะเขียนเรื่องนี้ให้คุณอ่าน อย่าตายใส่ผมเข้าก่อนก็แล้วกัน” พอถึงวันเกิดครบรอบปีที่ 74 ของอาจารย์คึกฤทธิ์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2528 อาจารย์คึกฤทธิ์ก็เขียนหนังสือชื่อ “ชรากถา” ให้ผมเอาไปพิมพ์แจกในงานวันเกิดของท่านที่บ้านซอยสวนพลู ถึงปี 2529 ความป่วยไข้ของอาจารย์เริ่มมากขึ้นอีก ผมใช้วิธีตื๊อต่อเนื่องให้อาจารย์เขียน “พยาธิกถา”อีกสักเล่ม อาจารย์ฟังแล้วก็หงุดหงิดบ้างบ่นบ้าง แต่ก็เขียนให้จนได้ก่อนวันเกิดไม่นานนัก พร้อมกับคำพูดว่า “เอ้า...เอาไปพิมพ์ได้ ตอนนี้ก็มีทั้ง ชรากถา พยาธิกถา ครบแล้วนะ ครั้งหน้าเป็นมรณากถาผมไม่เขียนแล้ว ถ้าอยากได้คุณต้องไปเขียนเอาเอง..... แต่เขียนให้ดีๆล่ะ ถ้าเขียนไม่ดีจะหลอกให้หัวโกร๋นเชียวละ” นี่เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกทั้งหมด จากเหตุการณ์ที่ผ่านล่วงเลยมาแล้ว 22 ปี จำนวนปีดังกล่าว น่าจะเทียบเคียงได้กับระยะเวลาที่อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ทุ่มเทให้กับการทำงานหนักสำคัญๆสารพัดอย่าง (พ.ศ.2495-2518 ช่วงปีแรกคือจบนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ เสด็จมาประทับถาวรในประเทศไทย ช่วงปีหลังคือการเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีเวลาทำงานไม่เต็มหนึ่งปี) ที่มีจุดหมายแน่ชัด คือสร้างการเรียนรู้ให้กับคนไทย, พูดและทำด้วย- ในกิจกรรมด้านการเมืองเศรษฐกิจสังคมศิลปวัฒนธรรมในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ให้คนได้เห็น, และเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เด่นชัดว่าจะสร้างคุณอันประเสริฐให้แก่ผู้คนและสังคมไทยได้อย่างไร ในช่วงปีแห่งความโศกสลดที่ชาวไทยได้สูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ(ต่อชาติและประชาชน) ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก ทุกภาพแห่งความอาลัยที่ปรากฏ ผมระลึกถึงภาพของอาจารย์คึกฤทธิ์ซึ่งหมอบกราบหน้าตามีความสุขอยู่แทบพระบาทพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นอยู่เสมอ เพราะการอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และชื่นชมพระราชกรณียกิจที่เสริมสร้างคุณอันประเสริฐแก่คนไทยส่วนใหญ่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในทุกรูปแบบ นั้นคือจุดเด่นอีกอย่างที่‘อาจารย์ของผม’ได้ทำอยู่ตลอดชีวิต จวบจนตายจากไป อาจารย์คึกฤทธิ์ ไปเฝ้ารอรับเสด็จฯพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ พระองค์นั้นอยู่นานแล้ว แต่เราคนไทยที่มีชีวิต ยังอยู่ที่นี่ และยังมีสิ่งต่างๆ ที่ต้องคิด ต้องทำ เพื่อวันข้างหน้าอีกสารพัด คิดให้ดีๆและใช้สติกันให้มากๆ - ผมขอใช้ ‘คึกฤทธิ์ มรณัสติ’ ระลึกความหลัง ถึงบุคคลที่ผมเคารพและบูชาไว้ในโอกาสนี้ครับ