ท่ามกลางวิกฤติโควิดและวิกฤติศรัทธาที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนหน้านี้ได้กระชับอำนาจในการแก้ไขปัญหาโควิด ดึงอำนาจจากบรรดาอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ตามกฎหมายถึง 31 ฉบับ
ที่น่าสนใจคือ ในจำนวนนี้มีพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ร่วมอยู่ด้วย
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับการรับข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ และข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ ก่อให้เกิดความสับสัน ตื่นตระหนก และเข้าใจผิดเกี่ยวกับกรณีต่างๆ ดังนั้น ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เลือกรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพื่อช่วยลดปัญหาข่าวปลอม ไม่เป็นการสนับสนุนกระบวนการผลิตข่าวปลอมที่สร้างความสับสนแก่คนในสังคมทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง จึงกำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตรวจสอบข่าวสารอันเป็นเท็จ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม รวมถึงชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง หากพบกรณีจงใจสร้างความสับสนแก่ประชาชน ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง กรม ส่วนราชการต่างๆ ยังมีหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานตนเอง และชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้องด้วยนอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังพบหลายกรณีที่พยายามโจมตีและดิสเครดิตรัฐบาล โดยอาศัยข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน และข้อมูลเท็จ ฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นวัคซีน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีวิงวอนกลุ่มคนที่กระทำการดังกล่าวให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือไม่ครบถ้วน โดยขอให้ทุกฝ่ายลดความขัดแย้ง ช่วยกันทำให้เกิดบรรยากาศของความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อที่สถานการณ์โควิด-19 จะได้คลี่คลายลงโดยเร็ว
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562-31 มี.ค.2564 พบข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งสิ้นกว่า 94 ล้านข้อความ โดยมีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 28,717 ข้อความ และหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 9,775 เรื่อง ในจำนวนนี้หมวดสุขภาพยังมีสัดส่วนมากสุด 5,301 เรื่องคิดเป็น 54% อันดับรองลงมา ได้แก่ หมวดนโยบายรัฐ 4,000 เรื่อง คิดเป็น 41% หมวดเศรษฐกิจ 300 เรื่อง คิดเป็น 3% และหมวดภัยพิบัติ 174 เรื่อง คิดเป็น 2%
โดยข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 9,755 เรื่อง ได้ทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว 5,207 เรื่อง แบ่งเป็นข่าวปลอม 2,418 เรื่อง ข่าวจริง 1,946 เรื่อง ข่าวบิดเบือนจำนวน 378 เรื่อง
เมื่อดาบอาญาสิทธิ์ในการจัดการข่าวปลอม อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ จึงน่าสนใจว่าจะสามารถกวาดล้างข่าวปลอมได้สิ้นซาก และฟื้นศรัทธากลับมาได้มากน้อยแค่ไหน