หากจะประเมินกันไปไกลว่า เมื่อ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาส่งเสียง ออกแอคชั่นเรียกร้องให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ตั้งแต่วันนี้ โดยใช้เหตุที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่รอดพ้นจากบ่วงคดีเมื่อสิ้นศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นส.ส.และรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลง
ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องไปยัง ร.อ.ธรรมนัส เมื่อได้ “ไปต่อ” ได้กลายเป็น “เงื่อนไข” ที่สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่น้อย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามว่าด้วย “จริยธรรม”
ดังนั้นเมื่อ มองเห็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาล ที่มีพรรคพลังประชารัฐ อันวาร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงเลือกที่จะใช้ไทม์มิ่งนี้ เสนอทางออกให้กับพรรคประชาธิปัตย์ รีบสละเรือก่อนที่จะพังไปพร้อมๆกับรัฐบาล
ด้วยอาจประเมินแล้วว่ากรณีปัญหาของร.อ.ธรรมนัส จะเป็นจุดตายของรัฐบาล !
แต่ดูเหมือนว่าท่าทีของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นตามที่อันวาร์ คาดหวังนัก เพราะจุรินทร์ บอกชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะต้องฟัง “เสียงส่วนใหญ่” นั่นหมายความว่า ไม่ใช่ “เสียงส่วนน้อย” อย่างอันวาร์
“กรณีของนายอันวาร์ ที่ดำเนินการในลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้ว จะมาสรุปว่าเป็นปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ พรรคมีกระบวนการอยู่แล้ว มีทั้งเสียงส่วนน้อย เสียงส่วนใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ยึดวิถีทางประชาธิปไตย
การจะดำเนินกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับการเมืองก็ต้องตัดสินใจให้เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าไม่รับฟังเสียงส่วนน้อย แต่เสียงส่วนน้อยต้องเข้าใจ และยอมรับมติของเสียงส่วนใหญ่ สิ่งนี้ทำให้เรายั่งยืนมาได้85ปี และเรายึดถือมาตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”(9 พ.ค.64)
ประเด็นที่ว่าด้วยปัญหาของ ร.อ.ธรรมนัส แท้จริงแล้วมีความชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและในฐานะหัวหน้าพรรค ต้องแบกรับ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
เช่นเดียวกันกับที่พล.อ.ประยุทธ์ เองต้องแบกรับแรงกดดัน ไม่ต่างกัน เพราะร.อ.ธรรมนัส คือรัฐมนตรีที่นั่งทำงานอยู่ในครม. แรงกดดันจากฝ่ายค้านและสังคม เมื่อพุ่งไปที่ร.อ.ธรรมนัส ย่อมกระแทกไปถึง รัฐบาลและตัวผู้นำรัฐบาลโดยปริยาย
ดังนั้นเมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ การออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องของ อันวาร์ ซึ่งเป็นเหมือน “ฝ่ายค้าน” ใน “พรรคประชาธิปัตย์” จึงจะไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะหนึ่ง อันวาร์ คือคนที่ยืนตรงข้ามกับ “กลุ่มอำนาจ” ของหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่แรก และสอง ข้อเสนอของอันวาร์ คือการผลักให้ ประชาธิปัตย์กำลังจะเข้าไปวุ่นวายกับเรื่องของ “พลังประชารัฐ” โดยที่จะไม่ได้อะไร นอกเสียจาก “รอยร้าว” ตามมาโดยใช่เหตุ !
อย่าลืมว่า สถานการณ์ยามนี้ คือการช่วยกันพายเรือ ให้รัฐบาลผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้เร็วที่สุด แต่ไม่ใช่พากัน “สละเรือ” ตามแรงเรียกร้องจากคนในพรรคหรือแม้แต่ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่ออกเสียงบีบคั้นทั้งที่รู้ว่า ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย ได้ตัดสินใจเดินหน้า อยู่ร่วมรัฐบาลให้ยาวนานที่สุด เพราะนั่นคือหนทางที่จะ “ได้” มากกว่า “เสีย” โดยไม่ต้องสงสัย !