ทวี สุรฤทธิกุล
วันนี้มีนิทานสองเรื่องมาเล่า “ประชดประเชียด” ให้คลายความเครียดในยุคโควิด
เรื่องแรก “หมาป่ากับลูกแกะ” ที่รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเอามาเล่าให้คนไทยฟังเมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเล่าว่า “ตอนเด็ก ๆ ผมชอบเล่านิทานให้ลูกผมฟังก่อนนอน ตอนนี้ก็เอามาเล่าให้หลาน ๆ ฟัง เรื่องหนึ่งที่ผมเล่าเป็นประจำก็คือ หมาป่ากับลูกแกะ เรื่องมีอยู่ว่า ที่ป่าแห่งหนึ่งชื่อว่าสัปปายะวนา แปลว่าป่าแห่งความดี มีอะไรดี ๆ อยู่เยอะเลย รวมถึงสัตว์นานาชนิดที่ล้วนแต่เป็นสัตว์ดี ๆ ทั้งสิ้น
วันหนึ่งมีหมาป่าตัวหนึ่งเดินไปตามทุ่งหญ้าชายป่า เห็นฝูงแกะฝูงหนึ่งเดินเลาะเล็มหญ้าอยู่ริมธารน้ำ แต่ก็มีลูกแกะตัวหนึ่งเดินตามฝูงไปช้า ๆ และเดินกินหญ้าเพลิน กระทั่งเดินไม่ทันฝูง ท่าทางคงจะเหนื่อยมาก จึงแวะดื่มน้ำที่ริมลำธาร หมาป่าเห็นแล้วก็น้ำลายไหล ใคร่จะได้กินลูกแกะตัวนั้น จึงคิดวางแผนอยู่สักครู่ เนื่องจากที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าแห่งความดี ถ้าจะกินลูกแกะก็ต้องคิดอุบายดี ๆ ไม่ให้สัตว์ใด ๆ มาตำหนิได้ว่าได้ทำชั่ว คิดได้ดังนั้นก็เดินเข้าไปหาลูกแกะ พร้อมรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเป็นมิตร ทำให้ลูกแกะไม่คิดว่ากำลังจะมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น
ครั้นเข้าไปถึงตัวลูกแกะ หมาป่าก็พูดขึ้นว่า นี่เจ้ากำลังทำน้ำให้ขุ่นรู้ไหม เจ้าต้องได้รับโทษ ลูกแกะตกใจมากจึงพูดขึ้นว่า ข้ากินน้ำอยู่ใต้ทางน้ำ คงไม่ทำให้ขุ่นขึ้นไปถึงท่านหรอกนะ หมาป่าจึงพูดต่อว่าเมื่อหน้าหนาวปีก่อนแกเคยด่าข้าเสีย ๆ หาย ๆ ข้าต้องกินเจ้า ลูกแกะตกใจมากขึ้นแต่ก็พูดออกไปว่า หน้าหนาวปีที่แล้วข้ายังไม่เกิดเลย ข้าจะไปด่าท่านได้อย่างไร หมาป่าไม่ละความพยายามพูดออกไปอีกว่า งั้นก็คงเป็นพ่อเจ้ากระมัง เจ้าก็ต้องรับโทษนั้นแทนพ่อ
ลูกแกะยืนงงอยู่สักพัก ก่อนที่จะคิดออกแล้วตอบไปว่า หยุดก่อนท่าน ศาลสัปปายะได้ตัดสินไว้เร็ว ๆ นี้ว่า ความผิดที่ทำในที่อื่นจะเอามาเป็นความผิดในที้ไม่ได้ ดังนั้นความผิดของคนอื่น ก็ไม่อาจจะนำมาเอาผิดกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องนั้นหาได้ไม่ หมาป่างงอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะทำหน้าตื่น ๆ พูดออกไปว่า อย่างงั้นเจ้าก็จงเติบโตเป็นรัฐมนตรีต่อไปเถิด แล้วเดินหนีจากไป แต่หูก็ยังได้ยินเสียงลูกแกะพูดแว่ว ๆ ตามหลังมาว่า อ้อ อีกอย่างหนึ่งโทษทัณฑ์ก็สำเร็จเสร็จผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าได้เอามาสร้างความวุ่นวายในป่าแห่งความดีที่นี่อีก”
อีกเรื่องหนึ่ง “แพะกับแป้ง” ซึ่งรัฐมนตรีคนหนึ่งชอบเล่าให้นักข่าวฟัง รวมถึงได้เคยอภิปรายชี้แจงในสภาแล้ว เขาเล่าว่า “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้มีบุญคนหนึ่งได้เกิดขึ้นในอุตรประเทศ ที่แปลว่าดินแดนทางทิศเหนือ กระทั่งเติบใหญ่มารับราชการเป็นทหารกล้า ได้รับความเอ็นดูจากผู้บังคับบัญชาและเจ้านายในทุกระดับ กระทั่งได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจลับ ต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่เสมอ ๆ เพื่อนำบรรจุภัณฑ์พิเศษไปมอบให้กับผู้คนในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น แต่แล้ววันหนึ่งก็ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศหนึ่งแจ้งข้อหาว่าค้ายาเสพติด มีการฟ้องร้องขึ้นศาลกันอยู่นาน ก่อนที่นายทหารคนนั้นจะรับสารภาพว่า ค้ายาเสพติดจริง เพื่อที่จะได้รับการลดโทษ แล้วเขาก็ถูกจำขังอยู่ในคุกของประเทศนั้นระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกเนรเทศกลับมาประเทศไทย จนเวลาผ่านไปก็ลงเล่นการเมืองและได้ดิบได้ดีมาโดยลำดับ แต่ก็ยังมีคนที่อิจฉาริษยาคอยจ้องเอาผิดเขาไม่รู้จักจบสิ้น แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบยาเสพติดที่ถูกจับได้นั้นว่าเป็นแค่แป้งผง น้ำหนักไม่กี่กิโลกรัม ก็ยังไม่มีใครเชื่อ ทหารคนนั้นจึงกลายเป็นแพะ และต้องรับกรรมมาถึงทุกวันนี้ ได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส แต่ด้วยความเป็นชายชาติทหาร เขาจึงต้องอดทน และรับใช้เจ้านายของเขาต่อไป”
คนที่ฟังนิทานสองเรื่องนี้จบแล้ว คงจะสังเกตเห็นว่าคนเล่าไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมของการเล่านิทานแต่อย่างใด ที่นิทานทุก ๆ เรื่องจะต้องลงท้ายว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ....” ซึ่งตัวผู้เขียนเองต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเหตุใด และก็คิดออกได้เพียง 2 เหตุผล
เหตุผลแรก น่าจะเป็นว่านิทานทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้มี คติธรรมหรือ “ข้อคิดดี ๆ” ไว้ให้ต้องคิด เพราะผู้เล่าไม่ได้ต้องการที่จะให้เป็นเรื่องเล่าเพื่อเชิดชูคุณธรรมอะไรของใคร เพียงแต่อยากจะเล่าเพื่อขอความเห็นใจและความเข้าใจว่า ความชั่วที่ได้กระทำนั้นไม่ได้เป็นความชั่วแต่อย่างใด เพราะในบางประเทศที่เขาตัดสินว่าเป็นความชั่ว ก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยจะเอามาตัดสินว่าเป็นความชั่วเหมือนสากลโลกนั้นด้วย มิฉะนั้นก็จะแสดงถึงความสูญเสียเอกราช ให้ชาติอื่นมามีอำนาจเหนือประเทศไทยได้
อีกเหตุผลหนึ่ง ต้องการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ “พาลาธิปไตย” คือระบบที่ผู้มีอำนาจและอิทธิพลมาก ๆ นั้นลากไป โดยกล้าที่จะประกาศด้วยว่าประเทศไทยนี่แหละปกครองด้วยระบบ “นิติรัฐ” คือมีกฎหมายเป็นใหญ่ ต้องตีความตามตัวอักษร ตามตัวบทกฎหมาย กฎหมายไทยก็ไม่ใช่กฎหมายประเทศอื่น รัฐธรรมนูญของไทยก็เขียนไว้เพียงแค่นี้ แม้แต่นักรัฐศาสตร์ที่มีอยู่หลายท่านอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยึดหลักกฎหมายนั้นด้วย เพราะนี่คือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาลรัฐศาสตร์หรือศาลรัฐสภา
ผู้เขียนนั่งกลุ้มใจอยู่หลายวันกว่าที่ทำใจได้ เพราะได้ไปอ่านเจอความหมายของคำว่า “กฎหมาย” นี้ ที่มีคนเขียนแซวไว้เล่น ๆ ว่า “กฎหมายคือกติกาที่ผู้มีอำนาจเขียนขึ้น ใครมีอำนาจเขาก็เขียนเพื่อรักษาอำนาจของเขาเหล่านั้น” นั่นก็คือต้องดูว่าใครมีอำนาจในบ้านเมืองนี้นั่นเอง
ราษฎรไทยไม่ได้มีอำนาจอะไรหรอก แค่วัคซีนยังต้องขึ้นอยู่กับว่า “ท่าน” จะให้ฉีดอะไร !