เสือตัวที่ 6
ห้วงเวลานี้ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในโลกใบนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งส่งผลต่อสถานการณ์การต่อสู้ในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มคนในขบวนการร้ายในพื้นที่แห่งนี้ ที่จำต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการต่อสู้ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ จากการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ เพื่อประสงค์ให้ประชาคมโลก ได้แลเห็นถึงความขัดแย้งด้วยอาวุธอย่างรุนแรงระหว่างคนในท้องถิ่นกับรัฐผู้ปกครอง อันจะนำไปสู่ความคาดหวังให้ประชาคมโลก ยื่นมือเข้ามาช่วยยุติความขัดแย้งด้วยอาวุธที่พยายามอ้างถึงดังกล่าวมาตลอดห้วงเวลาของการต่อสู้กับรัฐ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตีบตันของวิถีการต่อสู้ที่ผ่านมา ทำให้แกนนำนักคิดของขบวนการจำต้องปรับเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธดังกล่าว ไปเป็นการต่อสู้ทางความคิดในทุกเวทีการต่อสู้กับรัฐ พร้อมๆ กับการตระเตรียมผู้คนในพื้นที่ให้มีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกับขบวนการร้ายแห่งนี้ในทุกวิถีทาง
โดยในห้วงนี้ แม้ว่าสถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธ การสร้างความรุนแรง ไม่สงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้จางหายไปด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น แต่ขบวนการร้ายแห่งนี้ หาได้ล้มเลิกเป้าหมายในการแยกตัวเป็นอิสระของคนในพื้นที่ไม่ ทั้งยังไม่ผ่อนคลายความพยายามใดๆ ในการต่อสู้กับรัฐแต่อย่างใด หากแต่กลับปรับเปลี่ยนไปสู่การเติมเต็มแนวคิดความเห็นต่างของคนในท้องถิ่นกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้อย่างเข้มข้นกว่าเดิม การขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐของบรรดาขวนการเหล่านี้ที่มีต่อรัฐ ด้วยการหล่อหลอมแนววามคิด ความเชื่อให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ท้องถิ่น ด้วยการสร้างวาทกรรมของ ขบวนการชาติพันธุ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้นและเป็นการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ ต่อเนื่องทั้งยังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากรัฐไม่ตระหนักรู้ท่าทีที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ อาจมีความไม่พร้อมในการเตรียมคน เตรียมข้อมูล เตรียมเนื้อหาสาระ หรือองค์ความรู้ในการเข้าต่อสู้ทางความคิดในเวทีพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือเวทีอื่นใดในอนาคตได้
องค์ความรู้ที่ควรนำมาเป็นประเด็นสำคัญในการเตรียมเนื้อหาสาระไว้ต่อสู้ทางความคิดในทุกเวทีของรัฐ มีมากมาย อาทิ องค์ความรู้ที่ว่า “ขบวนการชาติพันธุ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้น" ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว มีอยู่ทุกแห่งหนในโลกใบนี้ เป็นปกติธรรมดาของมนุษยชาติ แต่รัฐจะต้องเข้าใจ และเข้าต่อสู้กับแนวคิดนี้อย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ขบวนการแบ่งแยกผู้คนเหล่านี้ สามารถนำพาไปสู่แนวคิดอันสุดโต่ง จนกระทั่งถึงขั้นต้องทำลายล้างหรือปฏิเสธชาติพันธุ์อื่น หรือไม่ยอมรับการแม้แต่การปกครอง ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ชาติไม่ว่าจะเป็นที่ใด มีการเปลี่ยนผ่านมาในแต่ละยุค แต่ละสมัยตามสภาพแวดล้อมหรือบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับอย่างเป็นเหตุเป็นผลของมัน ผู้คนในยุคใหม่หรือยุคปัจจุบัน จึงไม่ควรติดกับดักของประวัติศาสตร์อันนั้นจนไม่อาจยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ สังคมใหม่ของคนรุ่นปัจจุบันได้อย่างไม่มีประโยชน์ต่อการก้าวย่างไปในอนาคตของคนในยุคนี้
ด้วยประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด จึงเห็นการเคลื่อนย้ายของผู้คน การขยายตัวของสังคม หรือเสื่อมอำนาจไปของรัฐผู้ปกครองในแต่ละยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่องมานับพันปี จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาหนึ่งการเคลื่อนย้ายที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นรัฐได้ค่อยๆยุติลง เมื่อโลกทั้งใบได้เกิดประเทศน้อยใหญ่และตามมาด้วยพรมแดนระหว่างประเทศที่ถูกกำหนดขึ้นตามสภาพบริบทแวดล้อมในขณะนั้น หลายบริเวณของโลกที่ถูกกำหนดเป็นเขตแดนนั้น ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนต่างแนวคิด ต่างชาติพันธุ์ มาอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างงดงามยิ่ง ความเป็นพหุชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนในยุคนี้สมัยนี้ ควรนำมาขบคิดเพื่อทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายได้อย่างสันติสุข
นักวิชาการผู้มีคุณูปการต่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายได้อย่างสันติสุขท่านหนึ่ง ได้พยายามนำเสนอแนวคิดและองค์ความรู้ในการเตรียมผู้คน เตรียมเนื้อหาสาระไว้ต่อสู้ทางความคิด เตรียมข้อมูลในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักคิดของขบวนการร้ายแห่งนี้ที่ไม่ยอมลามือ ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจในทำนองว่า ประเทศไทยนั้นก็เช่นเดียวกัน ในแผ่นดินนี้มีชาวมลายู และชาติพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวนมากในหลายพื้นที่ ไม่เฉพาะแต่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่เมื่อเวลาหนึ่ง ประเทศไทยมีเขตแดนชัดเจนแล้ว ชาวมลายูทุกคนเป็นพลเมืองไทย (คนไทยเชื้อสายมลายู) โดยสมบูรณ์ มีสิทธิเสรีภาพในการศึกษา การใช้ภาษา การนับถือศาสนา การประกอบอาชีพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ บางครอบครัวภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษที่เคยร่วมสร้างชาติไทย มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เช่นเดียวกับชาวสยามหรือคนไทยในประเทศมาเลเซีย ที่ถูกแบ่งด้วยเส้นพรมแดนเส้นเดียวกัน วันนี้เขาเป็นชาวมาเลเซียที่มีเชื้อสายไทย ได้มีสิทธิทางการเมือง และมีเสรีภาพทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมของตนโดยสมบูรณ์ เฉพาะ 6 รัฐตอนบนของมาเลเซีย มีวัดไทยในพุทธศาสนาถึง 86 วัด เฉพาะเคดาห์รัฐเดียว มีวัดในศาสนาพุทธถึง 41 วัด เหล่านี้คือความแตกต่างหลากหลายที่ผู้คนในยุคปัจจุบันควรเรียนรู้เพื่อให้สามารถก้าวข้ามอดีตทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นอย่างเข้าใจ อันจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ความผาสุกได้ร่วมกัน
การต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้ที่มีกลุ่ม BRN เป็นกลุ่มเข้มแข็งสำคัญในการต่อสู้กับรัฐมาตลอดห้วงหลังๆ ของการต่อสู้กับรัฐ ที่พยายามหยิบยกมาตลอด ด้วยการสร้างเงื่อนไขที่ BRN ใช้ในการขับเคลื่อนสถานการณ์ความขัดแย้งเข้าสู่แนวทางของการปฏิวัติเชิงชาติพันธุ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้น สุดโต่ง เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการแยกตัวปกครองตนเองของคนในขบวนการเหล่านี้ จึงตีบตันลงเรื่อยๆ หากคนระดับมันสมองของรัฐ นักวิชาการทั้งหลายทั้งในและนอกพื้นที่ ต่างพยายามวิเคราะห์วิจัย สรรหาองค์ความรู้ ผลิตข้อมูลอันเป็นความจริงที่จริงกว่า มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ทางความคิดขบวนการชาติพันธุ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้น ของขบวนการได้มากเท่าใด ก็จะเป็นการดับฝันแนวคิดแบบสุดโต่งลงได้ในที่สุด