ในขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ปีนี้ งดจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2564 ซึ่งพระราชพิธีดังกล่าวนั้น เป็นประเพณีที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเมตตากรุณาแก่ราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยการอธิษฐานพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เกษตรกร แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตร โดยเฉพาะชาวนาปลูกข้าวเป็นอาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมาตลอด จึงกำหนดขึ้นในเดือน 6 ที่นับตามแบบไทยตรงกับเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการเริ่มต้นทำนา พระราชพิธีนี้จึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย โดยพิธีกรรมตามโบราณประเพณีเต็มรูปแบบนั้นดำเนินมาจนถึงปี 2479 จากนั้นก็เว้นไป กระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2503 จนมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น วันพืชมงคล จึงเป็นวันที่ควรจะหวนระลึกถึงความสำคัญของภาคเกษตร ด้วยการกลับมาให้ความสำคัญกับจัดผังเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับภาคเกษตร รวมทั้งระบบชลประทาน เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่างๆ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้ไทยยังคงเป็นแหล่งอาหารโลกที่แข็งแกร่ง น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องรีบกลับมาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ระดมมันสมองเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคเกษตรในยุคดิจิทัล ยิ่งในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทย สูญเสียรายได้ได้จากการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นรายได้หลัก คิดเป็นสัดส่วน18-20 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจไทย เฉพาะในปี 2562 มี สัดส่วนถึง 16% โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10% ของ ซึ่งคิดเป็น 61% จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด แต่เมื่อปี 2563 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ทำให้ต้องมารณรงค์ให้ท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่มาสะดุดกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ระลอก 3 ที่แม้จะไม่ได้ห้ามการเดินทางในช่วงสงกรานต์ก็ตาม แต่ความเสียหายที่ตามมาส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดและส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยก่อนการระบาดระลอก 3 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ตั้งเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2564 ไว้ที่ 1.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2563แต่เมื่อมีการระบาดในวงกว้างและไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในระยะเวลาอันใกล้ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.ก็ยอมรับว่าอาจจะต้องปรับเป้าหมาย ตัวเลขการสร้างรายได้ท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 อีกครั้งให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ธุรกิจที่ประสบปัญหา และต้องปลดพนักงาน ทำให้มีแรงงานกลับภูมิลำเนา เข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น ดังนั้นในระหว่างที่การท่องเที่ยวยังประคองตัวไมได้ จะฝืนให้มาอุ้มเศรษฐกิจไทยคงลำบากแบกน้ำหนักไม่ไหว ระหว่างรอให้โควิดคลี่คลาย และการเปิดประเทศ การหันกลับมาดูแลภาคเกษตรให้เข้มแข็ง มั่งคงและยั่งยืน เป็นทางเลือกระหว่างรอยักษ์ท่องเที่ยวที่กำลังหลับไหลกลับมาฟื้นอีกครั้ง