ทีมข่าวคิดลึก
เมื่อโอกาสเปิดกว้าง การเสนอความเห็นจากหลายต่อหลายฝ่ายจึงเกิดขึ้นอย่างคึกคักและเข้มข้นเป็นอย่างยิ่งดังนั้นจึงเกิดเป็นภาพสะท้อนที่ "แม่น้ำ"แต่ละสายจึงพากัน เสนอความเห็นเพื่อให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)นำไปพิจารณาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กันอย่างต่อเนื่อง
แต่ยิ่งเมื่อเปิดกว้างมากเท่าใด ยิ่งทำให้ "ฝ่ายการเมือง" เหมือนถูกล้อมกรอบและกดดันมากเท่านั้น จนล่าสุดทำให้แกนนำจากสองพรรคใหญ่ "ประชาธิปัตย์" และ "เพื่อไทย" ไม่อาจอดรนทนนิ่งเฉยโดยไม่ออกโรงรักษาที่ยืนของนักการเมืองได้อีกต่อไป!
โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีข้อเสนอที่ยากจะทำใจสำหรับนักการเมือง ถูกชงมาจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสทั้งสิ้นจึงทำให้เกิดเป็น "วิวาทะ" ชนิดรายวันขึ้นมา
ทั้งการเสนอให้ กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งเสริมและสนับสนุนการเลือกตั้ง, การเสนอให้มีการ "รีเซต" บัญชีรายชื่อสมาชิกทุกพรรคการเมือง ไปจนถึงการห้ามไม่ให้นักการเมืองเปิดเวทีปราศรัยหาเสียง
แน่นอนว่าข้อเสนอในลักษณะเช่นนี้มีแต่จะทำให้นักการเมืองจากทุกพรรคต่างอยู่ในฐานะที่"เสียเปรียบ" จนทำให้"จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ออกมาสวนกลับด้วยการเสนอให้"แม่น้ำ 5 สาย" ต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เพราะจตุพร แกนนำคนเสื้อแดงรู้ดีว่าบรรดาสมาชิกในแม่น้ำ5 สาย "บางส่วน" บางกลุ่ม ยังหวังและต้องการเข้าไปสืบทอดอำนาจ
แม้ล่าสุด "อุดม รัฐอมฤต" โฆษกกรธ. ได้ออกมายืนยันแล้วว่าการเขียนกฎหมายลูกของ กรธ. นั้นไม่ได้หมายความว่า กรธ. จะต้องทำตามข้อเสนอของ สปท.เพียงอย่างเดียว แต่ กรธ. ต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้ครบถ้วนก็ตาม แต่ยังไม่สามารถ"สยบ" การตอบโต้ที่ดังอึกทึกลงได้
เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือความหวาดระแวงที่ทุกๆฝ่ายต่างมีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระแส "นายกฯ คนนอก" ดังกระหึ่มมากเท่าใด ยิ่งฝ่ายการเมืองมองเห็นและรู้ดีว่า "250 ส.ว." ที่จะมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. นั้นไม่ต่างไปจากการทำหน้าที่เป็น "กลไกอำนาจ" ให้กับ คสช. หลังการเลือกตั้ง
ภายใต้การแสดงท่าทีจากแต่ละฝ่าย ทั้งจากสมาชิกแม่น้ำแต่ละสาย โดยเฉพาะ สปท. บางส่วนที่กำลังถูกมองว่าจงใจเคลื่อนไหวเพื่อ "เอาใจ คสช." กันชนิดสุดลิ่ม ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้หรือการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ?!
การห้ำหั่นกันระหว่างฝ่ายการเมืองเพื่อรักษาทั้งที่ยืน และการถูกดิสเครดิตจากแม่น้ำแต่ละสายในมือ คสช. จนกลายเป็น "ชนวนปัญหา" ทำให้ประชาชนเกิดความลังเลก่อนถึงวันเลือกตั้งในปี 2560 นั้นดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่นักการเมืองต้องหาทางเร่งกอบกู้ "เครดิต" ของตัวเองคืนกลับมา
ขณะเดียวกันฟากสมาชิกจากแม่น้ำแต่ละสายที่บัดนี้อยู่ในโหมดของการเปิดกว้างให้มีการแสดงความเห็น ชงข้อเสนอกันอย่างกว้างขวางก็ตาม แต่ย่อมไม่ได้หมายความว่า "บทบาท" แม่น้ำแต่ละสายจะกลายเป็นจุดอ่อนเปิดช่องให้ปัญหาและกระแสต่อต้าน ประเด็นร้อนๆกลายเป็นปัญหาลุกลามมาเขย่าที่ คสช.จนต้องเสียงานใหญ่ !--จบ--