หากสิ่งที่ รัฐบาลกำลัง "แบกอยู่" ไม่ใช่แค่ "ความคาดหวัง" จากคนในประเทศ ว่าที่สุดแล้วจะพาให้ผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปได้แล้ว
ยังดูเหมือนว่านาทีนี้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "ผู้นำรัฐบาล" ได้แบกเอาความรู้สึก นึกคิดของผู้คนในสังคมว่ารัฐบาลจะบริหารความเชื่อมั่นในด้านจริยธรรมอย่างไร เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงโจมตีทั้งจาก "ฝ่ายตรงข้าม" ไปจนถึงอาจทำให้ต้อง "เสียแนวร่วม" ไปพร้อมๆกัน
แม้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ 160(6) มาตรา 98 (10) และมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)
สืบเนื่องจากจากกรณีที่ "51 ส.ส.ฝ่ายค้าน" เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาจำคุกฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด ว่า คำวินิจฉัยของศาลที่ออกมา มีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นร.อ.ธรรมนัส จึงไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม สามารถตำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี จะได้ข้อยุติในทางกฎหมายไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมาไปแล้วก็ตาม
ทว่า "คำถาม" และข้อเรียกร้องในทาง "จริยธรรม" กลับเพิ่งเริ่มต้น !!
แม้ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า "เป็นเรื่องของศาล มาเกี่ยวกับรัฐบาลได้อย่างไร"
และการที่ส.ส.พรรคก้าวไกล เตรียมเดินหน้ายื่นสอบประเด็นเรื่อง จริยธรรม บิ๊กป้อม บอกสั้นๆว่า "ก็เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล"
แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องจากทั้งฝั่งตรงข้าม รวมถึง "แนวร่วม" ที่เคยเป็นกองเชียร์ ให้กับรัฐบาลโดยเฉพาะต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองต่างหวังว่า แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า ความเป็นส.ส.และรัฐมนตรีของร.อ.ธรรมนัส นั้นไม่สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย ก็ตามแต่สิ่งที่เหนือไปกว่ากฎหมายคือการรับฟังเสียงจากประชาชน จากสังคมที่คิดเห็น และมีปฏิกริยาต่อประเด็นนี้อย่างไร
สถานการณ์ของรัฐบาล อาจถึงคราววุ่นวาย และถูกปิดล้อมมากกว่าเมื่อคราวที่มี "ม็อบราษฎร" เคลื่อนไหวต่อต้านอยู่บนท้องถนน ซึ่งไม่ว่าจะยื่นข้อเรียกร้อง สักกี่ข้อ ก็ไร้ผล เช่นเดียวกับการเปิดหน้าถล่มรัฐบาล ด้วย "ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ของพรรคร่วมฝ่ายค้านตลอดอายุรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถ "คว่ำ" รัฐบาลได้ลง!
หากแต่ครั้งนี้ แม้ร.อ.ธรรมนัส จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำตอบและทำให้เขาได้ "ไปต่อ" ด้วยไม่ต้องสิ้นสุดทั้งสถานะส.ส.และรัฐมนตรีก็ตาม แต่เมื่อร.อ.ธรรมนัส เคยเป็นผู้กระทำผิดและต้องคำพิพากษาของศาลที่รัฐนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย จริง ย่อมไม่อาจทำให้ "คำถาม" และอาการคาใจของผู้คนในสังคม คลี่คลายลงไปได้
ดังนั้นสิ่งที่ รัฐบาลโดยเฉพาะ ตัวพล.อ.ประยุทธ์ กำลัง "แบก" อยู่บนบ่าเวลานี้ เวลาเดียวกันกับที่กำลังทุ่มเททุกสรรพกำลังไปที่การเอาชนะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกที่สาม คือคำถามทางด้านจริยธรรม ซึ่งดูจะเป็น "น้ำหนัก" ที่หนักหนาอยู่เอาการ หากจากนี้ไป ยังไม่มีอะไร "เปลี่ยนแปลง" ขึ้นอย่างใด อย่างหนึ่งในคณะรัฐมนตรี !?