“คำว่า ดุลพินิจ (อ่านว่า ดุน-ละ-พิ-นิด) ประกอบด้วยคำว่า ดุล กับคำว่า พินิจ. ดุล แปลว่า เท่ากัน เสมอกัน เท่าเทียมกัน. พินิจ แปลว่า การพิจารณา. ดุลพินิจ จึงมีความหมายว่า การวินิจฉัยที่สมควร การพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม. คำว่า ดุลพินิจ ใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรมในการตัดสิน เช่น ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจพิจารณาหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยเสนอ แล้วจึงตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรม. เมื่อเขาทำผิดก็ต้องยอมรับโทษ โทษจะหนักเบาเพียงใดก็แล้วแต่ดุลพินิจของศาล. การตรวจข้อสอบอัตนัยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตรวจ. การอนุมัติงบประมาณในวงเงินที่จำกัด ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน. คำว่า ดุลพินิจ ออกเสียงว่า ดุน-พิ -นิด ตามระบบเสียงของภาษาไทย หรือ ดุน-ละ -พิ-นิด ตามลักษณะของคำสมาส. คำว่า ดุลพินิจ ใช้ว่า ดุลยพินิจ (อ่านว่า ดุน-ยะ-พิ-นิด) ก็ได้” (บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ราชบัณฑิตยสภา)
การอธิบายคำว่า “ดุลพินิจ” ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ปัญหาของคำว่า “ดุลพินิจ” ที่ใส่ไว้ในกฏหมายที่กล่าวถึงหน้าที่ของข้าราชการแทบทุกฉบับ มันเกิดจากรูปธรรมการอ้างอิงใช้ “ดุลพินิจ” ของข้าราชการต่างหาก
เพราะบางกรณี อาจจะดู “ฝืน” กับสามัญสำนึกของนรชน
ปัญหาเกี่ยวกับ “การใช้ดุลพินิจ” ของข้าราชการ เจ้าพนักงาน ที่ทำให้เกิดข้อวิพากย์วิจารณ์กันบ่อย คือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวน
การใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการรวบรวมพยานหลักฐานใดๆหรือการสั่งคดี พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจกระทำการอย่างใดก็ได้ ตามที่เห็นสมควรตามกรอบของกฎหมาย อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนนั้น แม้ว่าผู้เสียหายจะร้องเรียนให้ศาลยุติธรตรวจสอบได้ แต่กระบวนการนี้ก็ยาก
การจะร้องเรียนหรือกล่าวหาข้าราชการในเรื่องใช้ดุลพินิจอย่างผิด ๆ คือกระทำผิด หรือใช้ดุลพินิจ “ละเว้นการปฏิบัติหน้ที่โดยมิชอบ” นั้น จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
“การกล่าวหาเจ้าพนักงานหรือข้าราชการว่ากระทำผิดในฐานะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องพิจารณาตีความโดยคำนึงถึงความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ และการกระทำที่จะเป็นความผิด ทางอาญาฐานนี้จะต้องเป็นการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือโดยทุจริต หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดถึงมูลเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
กรณีเจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลมิได้มีข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดถึงมูลเหตุจูงใจว่าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือโดยทุจริต จึงไม่มีมูลเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หากใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับความเสียหาย ก็ชอบที่จะร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชา หรือให้รับผิดในทางแพ่งเท่านั้น”
สรุปว่า ช่องทางที่ผู้เสียหายกระทำได้ คือ “ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา” ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บังคับบัญชาก็มักจะใช้ดุลพินิจ ปกป้องลูกน้อง หรือลงโทษสถานเบา เพราะยังมีภาษากฏหมายว่า “เหตุอันควรลดหย่อน (โทษ)” เป็นช่องทางเลี่ยงอีกช่องหนึ่ง
ภาษากฏหมายไทย เปิดช่องโหว่ทางกฏหมายไว้ช่องใหญ่ คือการใช้ดุลพินิจ จะมีคำใดกำหนดชัดแจ้งกว่าคำว่า “ใช้ดุลพินิจ” บ้าง