แม้ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 3% ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจติดลบ 6.1% และขยายตัวถึง 4.5% ในปี 2565 เนื่องจากการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของการค้าและการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.6% ในปีนี้ และ 12.5% ในปีหน้า
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นที่ 2.1% ในปี 2564 และ 3% ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นที่ 1.1% และ 1.0% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เอดีบี ยังจับตาความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล แนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ และมาตรการเยียวยา ที่อาจได้ผลน้อยกว่าที่คาด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน
ในขณะที่กระทรวงการคลังปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือเพียงร้อยละ 2.3 โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ ร้อยละ 1.8-2.8 ลดลงจากเดิมคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลงเหลือ 2 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 5 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ลดลง ร้อยละ 49 จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6 แสนล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 11 ดีขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 6.2 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระนั้นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวตามกรอบเดิมที่วางไว้ 2.5-3.0% โดยได้พิจารณาครอบคลุมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 แล้ว โดยคาดการณ์หากรัฐบาลสามารถควบคุมความเสียหายจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ซึ่งประเมินตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 วันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 2,800 คน บวกไปอีก 14 วันถึงวันที่ 9 พฤษภาคม2564 หรือภายใน 2 สัปดาห์ ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ไม่เกิน 2,000 คน ก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยหดลง 30-40% หรือประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน รวมมูลค่าความเสียหายโดยรวมยังอยู่ในกรอบเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3 แสนล้านบาท บวกกับรัฐบาลนำเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่บอกว่ามี 3.8 แสนล้านบาทมาใช้ได้ก็จะหักล้างความเสียหายได้
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังมองว่าหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน2 สัปดาห์ ความเสียหายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มมาอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อจีดีพี
อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่า แนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะลดความรุนแรงลง อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่าๆที่ทยอยออกมาสัมฤทธิ์ผลสัก 70-80% เพราะหากเป็นไปไนทางตรงกันข้ามเราคงต้องได้แต่สวดมนต์ภาวนา