รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คนไทยกับการเอาชนะโควิด-19 ในวันนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะจากการใช้มาตรการแบบเบา ของรัฐบาลในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนาและประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องพบปะผู้คนและสังสรรค์กัน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา แตะหลักพันขึ้นเป็นครั้งแรก (1,335 เคส) และวันที่ 23 เมษายน เริ่มแตะหลักสองพันขึ้นเป็นครั้งแรก (2,070 เคส) ส่วนจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มแตะ 2 หลักครั้งแรก (11 ราย) ในวันที่ 25 เมษายน และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตพุ่งสูงสุดล่าสุด 31 ราย ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ซึ่งคาดว่าตัวเลขคงไม่หยุดที่จำนวนนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้ ส่วนใหญ่เป็นการติดต่อกันภายในครอบครัวหรือยกครัว คนในครอบครัวเป็นผู้พาโควิด-19 เข้าบ้าน โดยลูก ๆ หลาน ๆ ที่มาเยี่ยมบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ และเมื่อระบบสาธารณสุขเริ่มเอาไม่อยู่ แพทย์ไม่พอ ทรัพยากรไม่พอ และยิ่งเมื่อมีคนในครอบครัวจากไปก็ไม่อาจมาร่วมพิธีกรรมได้ เรื่องคนไทยกับการเอาชนะโควิด-19 นี้ ถ้าไทยยังไม่อยากเป็นแบบ “อินเดีย 2” ออกซิเจนขาดแคลน คนตายเป็นเบือ ต้องเผาหมู่ ดูน่าสะพรึงและสลดหดหู่กันมาก ๆ ไปทั่วโลก! คนไทยทุกคนต้องตระหนักเสมอว่าโควิด-19 ติดง่ายกว่าที่คิด ไม่ประมาท เชื่อฟังหมอ ไม่ทำตัว สุ่มเสี่ยงให้ติดโควิด-19 ไม่แชร์ข้อมูลที่ยังไม่ชัวร์ว่าถูกต้อง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ถ้าสุดวิสัยพบว่าติดโควิด-19 แล้ว ก็ต้องไม่ปิดบังข้อมูล พูดความจริง เพื่อให้รอดไปด้วยกัน รัฐบาลก็ต้องเร่งรับมือและบริหารความเสี่ยงให้รัดกุมและรอบด้าน ระดมคนเก่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันหาทางป้องกันไม่ให้คนไทยติดโควิด-19 เพิ่ม ชะลอการติดโควิด-19 ของคนไทยออกไปให้ นานที่สุด พร้อม ๆ กับเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ให้กับคนไทยทุกกลุ่มให้รวดเร็ว มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาเป็นพรวนไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยกล่าวว่าถ้าจะหยุดโควิด-19 ให้ได้ก็ต้องเร่งฉีดวัคซีนกับคนไทยอย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ให้เร็วที่สุด และหยุดการแพร่ระบาดด้วยการรักษาวินัยระดับบุคคล มีระยะห่าง ตรวจให้ได้มากที่สุดทุก 4-7 วัน เมื่อตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการให้แยกตัวออกห่างผู้อื่น แต่ถ้าพบอาการผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ส่วนกรณีมีอาการแล้วต้องรีบไปโรงพยาบาลภายใน 1 ชั่วโมง และรีบรักษาทันทีก่อนที่จะทรุดหนัก เมื่อหันมามองประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดถึงวันละ 2 แสนรายสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างพลิกด้านกันกับประเทศไทยหรือเยอรมนี เพราะประชากรอเมริกาได้รับวัคซีนสูงถึง 229 ล้านโดส (ได้รับโดสเดียว 139 ล้านคน และรับครบสองโดส 94 ล้านคน) ภายหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งและออกนโยบายที่เข้มงวดโดยอาศัยหลักการและความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไบเดนก็สามารถทำตามสัญญาฉีดวัคซีนได้ครบก่อนกำหนดเส้นตาย 100 วัน เมื่อสถานการณ์ดูรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตครอบคลุมทุกจังหวัด ทำให้คนไทยที่ติดตามข่าวหรือมีผู้ใกล้ชิดในครอบครัวจากไปเพราะติดโควิด-19 ต่างพากันตกอยู่ในสภาวะเศร้าใจ เครียด วิตกจริต (ติดหรือยัง ๆ) เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่องนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนประเด็น “คนไทยกับการเอาชนะโควิด-19” โดยสำรวจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ท่านคิดว่าปัจจุบันท่านอยู่ในกลุ่มใด ประเด็นที่ 2 เมื่อท่านติดตามข่าวสารของโควิด-19 ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง ประเด็นที่ 3 ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ท่านมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด-19 ไปกับเรื่องใดมากที่สุด ประเด็นที่ 4 จากการที่ท่านผ่านสถานการณ์โควิด-19 มาหลายครั้ง ท่านมีวิธีการรับมือกับโควิด-19 ระลอกนี้อย่างไร และประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ 5 ทำอย่างไร จึงจะอยู่รอดจากโควิด-19 ระลอกนี้ได้ พูดง่าย ๆ ปัญหา “โควิด-19” นี้ คงอยู่กับคนไทยอีกนานอย่างน้อย ๆ ก็เป็นปี ๆ ถ้าไม่ต้องการให้เป็น “อินเดีย 2” ก็ต้องช่วยกันทุกคน ทุกสำนัก และทุกฝ่าย และปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะหยุดโควิด-19 ให้ได้ผลสูงสูดคำตอบคงหนีไม่พ้น “วัคซีน” ส่วนผลโพลทิศทางจะออกมาเป็นอย่างไร? … ต้องติดตาม “สวนดุสิตโพล” สัปดาห์นี้ครับ !