ก่อนหน้านี้อินเดียขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจของเอเชียที่น่าจับตามองว่า เป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุด นอกจากพี่ใหญ่อย่างจีน และอินโดนีเซีย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยถึงปีละประมาณ 7.1%ทีเดียว แต่นั่นเป็นการคาดการณ์ก่อนหน้า ที่อินเดียต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรม จากสึนามิโควิดที่เข้าถล่มอินเดียอย่างย่อยยับ เมื่ออินเดียได้ทำลายสถิติมีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับหนึ่งของโลกกว่า 360,000 คน และเสียชีวิตเกิน 3,000 คนในรอบ 24 ชั่วโมงเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มียอดรวมผู้เสียชีวิตรวมทะลุ 200,000 ศพไปแล้ว เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P) ยอมรับว่า การแพร่ระบาดระลอก 2 ของโรคโควิด-19 ในอินเดียอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง และอาจทำภาคธุรกิจสะดุดลงด้วย มีผลให้อันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของอินเดียอยู่ที่ BBB- ซึ่งสูงกว่าระดับขยะเพียงขั้นเดียว และจะทบทวนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดีย จากที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวราว 11% ในปีงบประมาณ 2564/2565 ด้วย เอสเอนด์พี โกลบอลมองว่าการแพร่ระบาดระลอก 2 ของโควิดในอินเดียอาจจะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และอาจทำให้ประเทศอื่นๆ เผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ด้วย ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือ WHOได้ปรับปรุงข้อมูลด้านการระบาดวิทยาของโควิด-19 ประจำสัปดาห์ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดียนั้นตรวจพบในหลายประเทศแล้ว โดยฐานข้อมูล GISAID ที่เปิดให้สาธารณชนสืบค้นได้ เผยว่า มีกว่า 1,200 กรณีที่ตรวจพบอย่างน้อย 17 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่พบในอินเดีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้ ยกเลิกและชะลอการออกใบอนุญาตเข้าประเทศ หรือ ซีโออีคนที่มาจากอินเดีย ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยตั้งแต่ 1 พฤษภาคม โดยยืนยันว่าระหว่าง 25-30 เมษายนไม่มีเที่ยวบินออกจากอินเดียมาไทย จึงไม่คนต่างชาติจากอินเดียมาไทย และจะมีเพียงคนไทยในอินเดียที่ผ่านขั้นตอนการขอเดินทางกลับประเทศตามที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนดเท่านั้น ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ในช่วงเวลานี้ และต้องผ่านขั้นตอนการคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดียว่าไม่เหมือนสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่กระจายง่าย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนบนหนามแหลมที่ตำแหน่ง 501 เป็น Tyrosine (Y) จากสายพันธุ์เดิมคือ Asparagine (E) สายพันธุ์อินเดียยังเป็นชนิด Asparagine อยู่ แต่สายพันธุ์อินเดียมีจุดที่น่าสนใจในตำแหน่งการตัดแบ่งส่วน Spike โปรตีนให้เป็น S1 และ S2 ด้วยเอนไซม์ Furin ของมนุษย์ การเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็น Basic โดยเฉพาะ Arginine (R) ทำให้หลุดเข้าเซลล์มนุษย์ได้ง่ายขึ้นจะติดเชื้อได้ง่ายขึ้นได้เช่นกัน ส่วนสายพันธุ์เบงกอลที่กล่าวถึงกันจะเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง 484 เป็น Lysine ที่ทำให้หลบหนีภูมิต้านทานจากวัคซีน เช่นเดียวกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล จึงทำให้มีการกล่าวถึงกันมาก สายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกไปกว่าบราซิลและแอฟริกาใต้ ถ้าดูแล้วสายพันธุ์แอฟริกาใต้ยังน่ากลัวกว่า อย่างไรก็ตาม นอกจากการแนวทางในการสกัดกั้นเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไม่ให้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว แนวทางที่หลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา รัสเซียยื่นมือเข้าช่วยอินเดีย ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง เพราะตราบใดที่โควิดยังอาละวาดในประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างหนักหน่วง ก็ไม่มีทางที่ประเทศใดเลยในโลกจะปลอดภัยได้ กระนั้น หากพิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้มีการแพร่ระบาดในอินเดีย ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 150 ล้านคน นั้น นอกจากไวรัสกลายพันธุ์แล้ว ยังพบว่าเกิดจากการหย่อนยานในมาตรการควบคุมโรค ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันในการชุมนุมทางการเมือง และเทศกาลทางศาสนา ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนเตียงและอุปกรณ์ออกซิเจนขั้นวิกฤติ ขณะที่ภาพศพผู้เสียชีวิตที่เรียงรายรอคิวเผาและฝังจำนวนมากเป็นภาพที่สลดหดหู่ใจ จึงได้แต่มองอินเดียให้เป็นบทเรียนสะท้อนมาถึงไทย คิดอ่านในการตั้งกำแพงสู้กับโควิด