ทวี สุรฤทธิกุล
การ Work From Homeทำให้รู้สถานะที่แท้จริงของข้าราชการไทย
Work From Home หรือที่เขียนย่อ ๆ ว่า WFH แปลตรงตัวว่า “ทำงานจากบ้าน” แต่ดูผู้คนยังมีความสับสนอยู่บ้าง ทั้งที่สับสนจริง ๆ และแกล้งสับสน โดยเฉพาะข้าราชการส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานจากบ้าน เพียงแต่ทำอะไรอื่นอยู่ในบ้าน แล้วรายงานว่าทำงานส่งให้กับหน่วยงานในสังกัดของตนอะไรบ้าง ซึ่งความจริงจะต้องทำงานเหมือนอย่างที่เคยอยู่ในที่ทำงานนั่นแหละ เพียงแต่เอามาทำที่บ้าน แล้วให้ได้ผลผลิตหรือผลงานเหมือนกับที่ทำกันอยู่เป็นปกติในที่ทำงานนั่นเอง
เรื่องนี้ก็เป็นความยากลำบากของข้าราชการอยู่มาก ผู้เขียนทำงานเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยเปิด ก็มีความกระอักกระอ่วนที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอยู่พอควร เช่น หน้าที่หลักของอาจารย์คือการสอน ก็ต้องสอนออนไลน์ แต่ด้วยปริมาณของนักศึกษาในแต่ละวิชามีมาก การจัดกลุ่มนักศึกษาให้เข้ามาเรียนก็มีความยากลำบาก ทั้งยังต้องอาศัยนักเทคโนโลยีทางการศึกษา มาช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ ซึ่งถ้าทำได้ที่บ้านของอาจารย์ผู้สอนก็โอเค แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องมาทำกันที่มหาวิทยาลัย เพราะมีความสะดวกมากกว่า จึงไม่สามารถที่จะ WFH ได้ทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่
แต่ปัญหาอันเป็นที่หนักใจที่สุดของข้าราชการทุกคนที่ WFH ในทุกกระทรวงก็คือ การเขียนรายงานว่าได้ WFH อะไรบ้าง และทำงานได้ครบถ้วนตามที่ได้กำหนดไว้ในภาระงานหรือไม่ (โดยไม่ต้องไปสนใจว่าทำอย่างไร อย่างที่ได้ยกปัญหาของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาเป็นตัวอย่างนั้น) แค่นี้ก็เกิดการทุจริตขึ้นทั่วไปแล้ว อย่างเช่น ข้าราชการคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานระดับชำนาญการพิเศษ ภาระงานตามของเขาก็คือ ควบคุมการปฏิบัติงานภายในกลุ่มงาน การตัดสินใจที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ที่มีความยากในระดับมาก และการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนพอควร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่มีตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม (เช่น อะไรคือการคิดวิเคราะห์ที่ “ยากมาก” และอะไรคือการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน “พอสมควร” เป็นต้น) แม้จะพยายามแตกรายละเอียดของตัวชี้วัดให้เป็นรูปธรรมขึ้นบ้าง (เช่น การคิดวิเคราะห์ที่ยากมากก็คือการคิดวิเคราะห์ที่มีหลายปัจจัยปัญหาและมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เป็นต้น) แต่ก็ไม่ได้สร้างระบบที่ได้มาตรฐานที่แท้จริงแต่อย่างใด แม้แต่เวลาที่ทำงานอยู่ในออฟฟิส มองเห็นหน้ากันและต้องทำงานด้วยกันอยู่ตลอดเวลา (งานราชการส่วนใหญ่ ทำงานเดี่ยว ๆ ไม่ได้ ต้องทำงานแบบประสานงานกันตลอดเวลา เพราะต้องทำงานตามสายการบังคับบัญชา และมีสายงานที่ต้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบ จึงไม่เหมาะกับการ WFH ด้วยประการทั้งปวง) ก็ยังวัดผลงานหรือผลผลิตต่าง ๆ ได้ยาก โดยเฉพาะการคิดผลงานออกมาเป็นรายบุคคล ในขณะที่งานต่าง ๆ ต้องทำด้วยกัน และผลงานมักจะมีลักษณะที่เป็นผลงานร่วมกัน
ผู้เขียนเคยรับผิดชอบเป็นผู้บริหารในตำแหน่งรองอธิการบดีที่ดูแลด้านการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยอยู่ระยะหนึ่ง แค่การกระตุ้นให้บุคลากรทำงานตามภาระหน้าที่ของแต่ละคนก็ “เหนื่อยหนัก” เป็นอย่างยิ่งแล้ว แต่นี่ในสภาวการณ์ที่ต้อง WFH ก็ยิ่งจะทำให้ผู้บริหารปวดหัวมากขึ้น โดยเฉพาะจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้บุคลากร “ต้องโกหก” ในการเขียนรายงานการปฏิบัติที่ได้ทำจากบ้านนั้น จึงอยากจะฝากเป็นข้อคิดให้กับผู้บริหารระดับชาติที่จะต้องดูแลข้าราชการทุกกระทรวง ว่าจะ “เอาเป็นเอาตาย” กับเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ และอย่าคิดไปว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องชั่วคราว” เดี๋ยวโควิดหมดแล้วก็กลับไปทำงานตามแบบปกติได้ เพราะโควิดน่าจะยังอยู่ในสังคมมนุษย์อีกนาน จนอาจจะเป็นปกติเหมือนกับเป็นไข้หวัดอีกพันธุ์หนึ่ง เพียงแต่สามารถควบคุมได้บ้าง และยังต้องพยายามหาทางรักษาให้เด็ดขาดต่อไปอีกนาน เหมือนกับพวกคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอ ที่ยังต้องฉีดวัคซีนให้แก่เด็กแรกเกิดมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อมนุษย์ยังต้องอยู่กับโควิดอีกนาน วิถีชีวิตของมนุษย์ก็คงจะเปลี่ยนไป ต่อไปหน้ากากอนามัยจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราจะขาดเสียไม่ได้ บริการสาธารณะต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านค้า รถสาธารณะ และกิจกรรมสังสรรค์ชุมนุมนันทนาการต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป จนถึงขั้นเป็นสิ่งต้องห้ามหรือกระทำไม่ได้ในสังคม เช่นเดียวกันการทำงาน ที่อาจจะต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วย และมีการสร้างตัวชี้วัดเพื่อใช้ประเมินผลงาน ความดีความชอบ การเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน ผลประโยชน์ตอบแทน และการให้สวัสดิการช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงสร้างมาตรฐานของการ WFH ที่จะทำให้มีประสิทธิภาพในระบบการบริหาร โดยเฉพาะในระบบราชการที่มีลักษณะงานหลากหลาย และมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก
เพื่อนอาจารย์ของผู้เขียนที่สอนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แอบนินทาเพื่อนข้าราชการด้วยกันว่า ข้าราชการนี่แหละที่น่าจะต้องเกิดการ “พลิกโฉม” หรือ “Disrupt” ครั้งใหญ่ เพราะจากที่มีการ WFH แบบปลอม ๆ ก็ยังพบว่า มีข้าราชการจำนวนมากอยู่ในภาวะ “ว่างงานแบบเทียม” คือมีงานแต่ไม่ทำ หรือทำแต่เฉพาะที่ต้องรายงานไว้ประเมินความดีความชอบ โดยที่ไม่ได้ทำให้ระบบราชการนั้นล่มหรือให้บริการไม่ได้แต่อย่างใด จึงอาจจะเป็นได้ว่าถ้าผู้บริหารประเทศมองเห็นข้อบกพร่องตรงนี้ แล้วทำการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ เช่น ตัดกำลังคนคือข้าราชการที่ว่างงานทั้งหลายนั้นออกไปเสีย ก็จะลดภาะของภาครัฐที่จะต้องใช้งบประมาณให้กับข้าราชการนั้นลงไปได้มาก
โดยเพื่อนคนนี้ได้ยกตัวอย่างด้วยว่า ในกองทัพต่าง ๆ มีนายพลและนายพันที่ว่างงานอยู่อีกมาก รวมทั้งกำลังพลในกรมทหารต่าง ๆ ก็ยังสามารถลดลงไปได้อีกแยะ เพราะว่าศึกสงครามที่จะไปสู้รบกันก็ไม่ค่อยมี หรือถ้ามีก็ใช้เทคโนโลยีมาช่วยกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว เป็น WFF หรือ “War From Finger – การรบด้วยปลายนิ้ว” กันหมดแล้ว ซึ่งต่อไปคงไม่ต้องมีทหารไว้มาก ๆ ที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้ปฏิวัติรัฐประหารอย่างที่ชอบทำกันมา
อย่างดีก็คงเหลือไว้แต่ผู้บัญชาการทหารบกสักคนหนึ่ง เพื่อเอาไว้เป็นนายกรัฐมนตรี !