ก้าวเข้าสู่เดือนพฤษภาอาถรรพ์ สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีหลากหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์นองเลือดในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535” และ “พฤษภา53” กระทั่งการรัฐประหารใน “พฤษภาคม 2557” ที่ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน
พฤษภาคม 2564 บรรยากาศการเมืองเริ่มเขม็งเกลียว เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตกอยู่กลางสมรภูมิสงคราม 4 ทัพ
หนึ่ง ต้องรับมือกับมหาไวรัสล้างโลกอย่างโควิด-19 ที่เชื่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษโจมตีดุเดือดรวดเร็วและรุนแรง เคยทำตัวเลขนิวไฮยอดผู้ป่วยสูงเกือบ 3 พัน และระบบสาธารณสุขมีปัญหา
หนึ่ง ต้องรับมือกับศัตรูทางการเมืองทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน และคนแดนไกลที่วนเวียนมาเขย่าบัลลังก์รายวัน
หนึ่ง กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งกลุ่มราษฎร หรือที่เปลี่ยนชื่อกันมาอย่างต่อเนื่องเคลื่อนไหวด้วยแคมเปญเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำในคุก และการอดอาหารประท้วง เติมเข้ามาด้วยกลุ่มใหม่ของนักเคลื่อนไหวหน้าเก่า
และอีกหนึ่งคือ ศึกในที่พรรคร่วมรัฐบาลที่ดันไปเหยียบตาปลากันเอง
นั่นทำให้เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นอีกเดือนที่ท้าทายและน่าจับตาว่าจะเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองระดับสึนามีหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่คลื่นลมที่กระแทกเรือเหล็กแล้วม้วนตัวกลืนหายไปในผืนน้ำ
โดยเฉพาะการที่จตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาคาดการณ์รัฐบาลจะอยู่ไม่รอดในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยมีการวางแผนยุบสภาแล้ว ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ออกแถลงการณ์กดดันให้การยุบสภา
ประกอบกับเซียนการเมืองต่างจับจ้องไปที่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ซึ่งเหมือนการปูพรมเพื่อปูทางไปสู่การเตรียมการเลือกตั้ง
ทว่า เหนืออื่นใด ความเป็นไปได้ในการยุบสภานั้น แม้จะไม่ถูกปิดตาย หากแต่จังหวะ เวลาในการยุบสภานั้นมีความสำคัญยิ่ง บรรดานักการเมืองต่างมองไปที่ห้วงเวลาหลังร่างกฎหมายงบประมาณปี 2565 ผ่านสภาฯ
กระนั้นการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในห้วงที่สถานการณ์โควิดกำลังวิกฤติหนัก ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคแกนนำ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่กระแสความนิยมกำลังตกเป็นรอง ที่สำคัญท่าทีการดึงอำนาจของรัฐมนตรี ในการสั่งการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโควิดมาอยู่ที่นายกรัฐมนนตรีโดยมีกฎหมายรองรับ ยิ่งชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสู้
ในขณะเดียวกันมาตรการต่างๆที่เยียวยาผลกระทบจากโควิด และกระตุ้นเศรษฐกิจจะทยอยออกมาหลายแพ็กเกจในช่วงเดือนพฤษภาคม รวมทั้งการปูพรมฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน และแผนการเปิดประเทศในเดือนกรกฎาคม
ทั้งนี้ ทั้งนั้น ปัจจัยชี้ขาดสำคัญอยู่ที่การเผด็จศึก “โควิด” หากแม่ทัพอย่างพล.อ.ประยุทธ์ คืนฟอร์มกำราบได้อยู่หมัดจากอาญาสิทธิ์ในมือ เหมือนดั่งระลอกแรก ที่กดตัวเลขให้มีการแพร่เชื้อได้ในวงจำกัด และคืนสภาวะปกติให้กับระบอบสาธารณสุขได้ราบรื่น ก็จะสามารถสยบศึกนอกอีก 2 ทัพลงได้ไม่ยาก
คงเหลือแต่ศึกในที่ต้องอาศัยศิลปะในการอยู่ร่วมกัน เพราะหากมีชัยชนะเหนือโควิด พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ต่างจากพยัคฆ์ติดปีก