ดร.วิชัย พยัคฆโส payackso@gmail.com ฮือฮากระเทือนไปทั้งวงการแรงงาน จากการที่องค์กรลูกจ้างประสานเสียงขอปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจากปัจจุบัน 310 บาท ไปเป็น 700 บาท โดยเหตุผลที่ค่าจ้างปัจจุบันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาระของลูก 2 คน และครอบครัวอีก 1 คน ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังรวยกระจุกจนกระจาย มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 600 เหรียญสหรัฐต่อปีต่อคน เป็นประเทศที่ยังวนเวียนอยู่ในรายได้ระดับปานกลาง เพื่อนบ้านในอาเซียน 2-3 ประเทศ เขาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หรือเป็นประเทศโลกที่ 1 กันบ้างแล้ว ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ให้พ้นกับดักของประเทศมีรายได้ปานกลาง จากการคำนวณรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 180,000 บาท ให้เป็น 400,000 บาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือรายได้เฉลี่ยต่อคน/เดือน ประมาณ 30,000-35,000 บาท นับเปนโจทย์ใหญ่ของประเทศที่จะต้องช่วยกันทุกทาง ไม่เพียงแต่รัฐบาลคิดฝ่ายเดียวหรือเพียงแค่จ่ายค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือน ให้แก่ข้าราชการ แรงงานทั้งระบบ ซึ่งคงยาก เพราะรายได้ของประเทศเกิดจากความเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน และภาษีรายได้ที่จะนำมาชดเชยให้แก่ประชาชน หากความต้องการในค่าครองชีพต้องได้ 700 บาท/วัน หรือเดือนละระหว่าง 18,000-20,000 บาท ต่อเดือนนั้น เชื่อว่าสามารถเลี้ยงชีพต่อครอบครัว 4 คน (ลูก 2 คน คู่สมรส 1 คน) เป็นมาตรฐานการคิดคำนวณของฝ่ายลูกจ้างนั้น คงทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวแรงงานมีความสุขมากกว่าเดิม คงปฏิเสธไม่ได้ แต่ในภาพรวมคงต้องดูความเป็นไปได้และผลกระทบอีกหลายมิติที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ และโครงสร้างอัตราค่าจ้างแรงงานจะถูกปฏิรูปใหม่ทั้งหมด เพราะค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นแรงงานขั้นต้นของแรงงานไร้ฝีมือ จะมากกว่าแรงงานที่มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทั้ง 3 ระดับ ที่มีมากกว่า 60 สาขาอาชีพและ มากกว่าแรงงานระดับปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท หรืออาจมากกว่าระดับปริญญาโทด้วยซ้ำไป คิดเพียงตัวเลขก็คงคิดต่อไม่ได้แล้ว ทั้งความเป็นไปได้ของนายจ้างในทุกสถานประกอบการและภาคราชการ ที่จะกระเทือนไปถึงระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนที่สูง สินค้าจะสูงตาม อัตราเงินเฟ้อก็พุ่งสูงขึ้น รายได้วันละ 700 บาทก็คงตามไม่ทันอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาจต้องชะงักงันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าค่าครองชีพนับวันจะสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อของระบบเศรษฐกิจ ผู้เกี่ยวข้องพึงรับฟังปัญหาปากท้องของประชาชน ควรจะปรับเข้าสู่มาตรฐานระดับใดกันดี โดยเฉพาะมาตรฐานค่าจ้างแรงงานทุกระบบควรคิดจากฐานใด เช่น อัตราเงินเฟ้อ การรับภาระตัวคนเดียวหรือครอบครัวกี่คน รวมถึงความสามารถการจ่ายของนายจ้างและระบบราชการด้วย เชื่อว่ารัฐบาลคงตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงวางเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี เพื่อพัฒนารายได้ด้วยศักยภาพแรงงานและศักยภาพการผลิตด้วยนวัตกรรม รายได้จะค่อยเป็นค่อยไป จนถึง 35,000 บาท/เดือน คงมิได้พรวดพราดปรับขึ้นในระยะตั้งไข่ตั้งแต่เริ่มต้น ยังสนับสนุนมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับ1-2-3 ของกระทรวงแรงงานที่ลูกจ้างแรงงานไทยพึงพัฒนาสมรรถนะให้ได้ เพื่อรับค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าแรงงานไร้ฝีมือ ที่ควรปล่อยให้เป็นแรงงานต่างด้าวมาทดแทน โจทย์จึงอยู่ที่กระทรวงแรงงานและองค์กรลูกจ้างทุกองค์กร ควรได้ร่วมกันผลึกกำลังเข้าสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ น่าจะเป็นคำตอบอีกทางหนึ่ง