เสียงของแพทย์มองสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบ 3 ว่าประเทศสู่ภาวะวิกฤติ หลังจากไม่ได้ ล็อกดาวน์และยังอนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยกังวลว่าเศรษฐกิจจะซบเซา
กระนั้น แม้ไม่ล็อกดาวน์ แต่เมื่อหันมาดูสถานการณ์แล้วก็ยังน่าเป็นห่วง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไปวันละ 3,338 ล้านบาท หรือเดือนละ 100,140 ล้านบาท โดยพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด หายไปวันละ 2,815 ล้านบาท หรือเดือนละ 84,436 ล้านบาท และพื้นที่ สีส้ม 59 จังหวัด หายไปวันละ 523 ล้านบาท หรือเดือนละ 15,704 ล้านบาท ขณะเดียว กัน ยังทำให้ความต้องการใช้แรงงานลดลงเดือนละ 148,933 คน โดยในพื้นที่สีแดงลดลงมากสุดถึง 122,360 คน และสีส้มลดลง 26,570 คน
ทั้งนี้มูลค่าจีดีพีที่หายไปทุก ๆ 100,000 ล้านบาท จะทำให้จีดีพีไทยลดลง 0.6% ดังนั้นการระบาดรอบ 3 ที่เงินหายไปเดือนละ 100,140 ล้านบาท จีดีพีจะลดลงเดือนละ 0.62% แต่ถ้ารัฐบาลควบคุมการระบาดได้ภายใน 2 เดือน จีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 1.6% จากเดิมคาดโต 2.8% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.65% จากเดิมคาด 1.63% แต่ถ้าคุมได้ใน 3 เดือน จีดีพีจะเหลือโต 1% และอัตราการว่างงานจะเพิ่มเป็น 1.68% จึงมีความเป็นไปได้ต่ำที่จีดีพีปีนี้จะโตได้ 4% ตามเป้าหมายใหม่ของกระทรวงการคลัง
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังมองว่าหากรัฐบาลต้องการทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวที่ 2.8% ตามเป้าหมายเดิม จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 200,000 ล้านบาท เพื่อให้จีดีพีโตได้เพิ่มขึ้นอีก 1.2% มาอยู่ที่ 2.8% โดยศูนย์มีข้อเสนอแนะให้ทำโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โดยอัดฉีดเงินเพิ่มอีก 57,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียน 114,000 ล้านบาท, เพิ่มมูลค่าส่งออกให้ได้เดือนละ 300 ล้านดอลลาร์ หรือจะมีเงินเพิ่มขึ้นอีก 73,900 ล้านบาท, กระตุ้นบริโภคในประเทศ เช่น เพิ่มลดหย่อนภาษีในช้อปช่วยชาติ เป็น 100,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท ซึ่งจะมีเงินเข้าสู่ระบบอีก10,000 ล้านบาท และกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ จะมีเงินเข้าระบบอีก 2,000 ล้านบาท รวมประมาณ 200,000 ล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับจีดีพีไทยเติบโตลดลงที่ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่คาดว่า ขยายตัว 2.6% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ โดยมองว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ในขณะที่แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคนโดยตัวแปรสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการเร่งปูพรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้
กระนั้น เมื่อเรามองกระบวนการด้านวัคซีนแล้ว อาจไม่ทันเวลา รัฐอาจต้องงัดไม้แข็งมาใช้ เพื่อดับไฟลามทุ่ง