แม้พายุโควิดจะพัดถล่มประเทศไทย ทำให้โฟกัสการเมืองไทยจับจ้องไปที่สถานการณ์การแก้ไขปัญหาโควิด แต่ฝ่ายการเมือง ยังคงใจจดใจจ่อกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำแบบสำรวจความเห็นประชาชนต่อความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เปิดเผยผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.5 ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนร้อยละ 22.5 ไม่ต้องการแก้ไข เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลา และไม่มีประโยชน์ ขณะที่บางส่วนให้เหตุผลว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จัก
ที่น่าสนใจคือในความเห็นของกลุ่มที่ต้องการให้แก้ไข ร้อยละ 77.5 ระบุถึงวิธีแก้ไข โดยส่วนมาก ร้อยละ 39.1 ต้องการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำเนินการ รองลงมา ร้อยละ 30.8 ระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา , ร้อยละ 13.6 ต้องการให้คัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้การสำรวจยังสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการไปลงประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93.2 บอกว่าจะไปออกเสียงประชามติแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 6.8 ตอบว่าไม่ไป โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่สนใจ และเบื่อการเมือง
ผลโพลดังกล่าวจะเพิ่มน้ำหนักและป็นแรงเสียดทานให้กับฝ่ายการเมือง ที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะที่ไม่ต้องการให้ส.ส.ร.เข้ามาเป็นผู้แก้ไข ทำให้มีการลงมติล้มไปในการพิจารณาวาระ 3
เนื่องจากหากย้อนกลับไปกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ต้องเสนอญัตติกันเข้ามาใหม่ว่าจะแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้ไขเป็นรายมาตรา และจะแก้ด้วยวิธีใด โดยพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคจับมือกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดียว โดดเดี่ยวพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็มีร่างของฝ่ายค้านเข้ามา ซึ่งก็มีสิทธิที่จะเสนอร่างใครร่างมัน
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไปถามประชาชนด้วยการทำประชามติก่อน และหากประชาชนเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการแก้ไขแล้ว มาทำการแก้ไขเสร็จก็ต้องนำกลับไปถามประชาชนอีกครั้ง ทว่า ร่างกฎหมายประชามติ ก็ยังค้างการพิจารณาอยู่ในสภาฯ
ท่ามกลางกระแสข่าวการยุบสภา ที่ข่าวลือออกมาจากทั้งฝั่งของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบกับการเคลื่อนไหวสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด โดยแบ่งงานให้ บรรดารัฐมนตรีดูแลพื้นที่จังหวัดต่างๆ
การออกคำสั่งดังกล่าวได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแบ่งงานให้รัฐมนตรีแต่ละคนแต่ละพรรครับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง
ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็ปรับทัพใหม่ในการแบ่งพื้นที่คุมฐานเสียงเลือกตั้ง และคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งกันใหม่
แม้หลายฝ่ายจะวิเคราะห์ตรงกันว่า รัฐบาลจะไม่ยุบสภา แต่ลากยาวไปจนครบเทอม แต่สิ่งที่ยังไม่แน่ใจก็คือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นไปภายใต้กติกาที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือที่สุดต้องใช้กติกาเดิม