หากจะบอกว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นได้ทั้ง จุดอ่อนและจุดแข็งในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะในจังหวะนี้ที่รัฐบาลของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กำลังเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานอย่างหนัก จากการบริหารจัดการที่ถูกโจมตีว่า "ล้มเหลว" เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด พุ่งไม่หยุด แต่ระบบการรองรับกลับเกิดปัญหา ลำพัง แรงเหวี่ยง ที่ทิ้งหมัดเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็นับว่า รุนแรงอยู่แล้ว ไหนประชาชนจะไม่พอใจการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขที่รับมือกับผู้ป่วยผู้ติดเชื้อไม่ทันการณ์ ล่าสุดยังกลายเป็นว่า "พรรคภูมิใจไทย" ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง ยังเปิดหน้าให้ประชาชน และ "ฝ่ายค้าน" ยิงหมัดตรง หวุดหวิด จวนเจียนจะเข้ามุมอยู่ร่อมร่อ ! ถามว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเจ้าตัวกำลังเจอ "ศึกใหญ่" เมื่อ พี่น้องประชาชนไม่พอใจการบริหารงานของเจ้ากระทรวงหมอ ทั้งเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาล ได้ทันท่วงที เพื่อความสูญเสีย จนมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตกันในบ้าน รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดหาวัคซีน ให้เพียงพอ รวดเร็ว รวมทั้งการดูแล สนับสนุนบุคลาการด้านการแพทย์ อย่างเต็มกำลัง สิ่งเหล่านี้ หากมองด้านเดียว อาจจะพบว่าเป็นเรื่องของพรรคภูมิใจไทย ไม่น่าจะกระทบไปถึง รัฐบาล ! แต่อย่าลืมว่า วันนี้สาระสำคัญสำหรับรัฐบาลย่อมไม่ใช่อยู่ที่การตัดสินใจ "ลาออก" หรือ "ยุบสภาฯ" ตามอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างใด เพราะสถานการณ์จะไม่มีทางเดินไปถึงจุดดังกล่าวได้ แต่เมื่อพรรคภูมิใจไทย คือในเวลานี้ย่อมไม่ใช่แค่สถานะ "พรรคร่วมรัฐบาล" เท่านั้น หากแต่ยังถือเป็น "แม่ทัพ" ร่วมรบกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องประคับประคองกันไป ไม่ใช่เพราะ "ทู่ซี้" หรือ "ดันทุรัง" จนทำให้ ประชาชนและพรรคฝ่ายค้านฉวยจังหวะถล่มไม่เลิกเท่านั้น หากแต่ "การเปลี่ยนม้ากลางศึก" ในเวลานี้ย่อมไม่ใช่ทางออก หรือการแก้ปัญหาที่ถูกทางนัก ในทางกลับกัน ทุกแรงเสียดทานและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น จะกลายเป็น "เงื่อนไข" ที่ทำให้รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทุกกระทรวงต้องเร่งปรับโหมดการทำงาน โดยที่หัวหน้ารัฐบาลไม่จำเป็นต้อง "ออกแรง" การออกมาเคลื่อนไหวของ "กลุ่มหมอไม่ทน" ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25เม.ย.ที่ผ่านมามีการล่าชื่อตั้งเคมเปญล่าชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.orgเพื่อบีบให้อนุทิน ลาออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุข เพราะบริหารงานล้มเหลว โดยยอดล่าชื่อพุ่งขึ้นไปกว่า 1.6แสนคน เมื่อวันที่ 26เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ตัว อนุทิน ให้สัมภาษณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วว่า "ถ้าจะไป ก็ขอไปด้วยตัวเอง !" "เรื่องขวัญกำลังใจของผมไม่มีปัญหาเพราะผมทำงาน ผมบอกตัวผมเองว่ากำลังทำงาน ใครชมผมก็ขอบคุณ ใครว่าผมก็ฟัง ถ้ามันเข้าท่า ผมก็ทำตาม ตอนเข้าผมขอเข้ามาที่นี่ ดังนั้นถ้าจะไปผมก็ขอไปด้วยตัวเอง" (25เม.ย.64) สถานการณ์ของอนุทิน ในเวลานี้ ต้องนับว่ารุนแรงอยู่ไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไป กับส.ส.ฝ่ายค้าน จะดาหน้าออกมาถล่มด้วยเหตุผลที่ว่าด้วยการบริหารจัดการล้มเหลวแล้ว ยังมีเสียงเรียกร้องไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ให้ "ปรับออก" จากรัฐบาลทั้งพรรคเสียด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ออกมาเรียกร้องให้ อนุทิน และพรรคภูมิใจไทย เป็นฝ่าย "ทิ้ง" พรรคพลังประชารัฐ ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญถูก "คว่ำ" ในที่ประชุมรัฐสภามาแล้ว การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง สำหรับพรรคภูมิใจไทย ดูจะแปรผันไปตามสถานการณ์ทั้งการบ้านและการเมืองที่เป็นไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว นี่คือบทพิสูจน์ ว่าอนุทิน และพรรคภูมิใจไทยจะแข็งแกร่งมากพอเป็น "หินรองทอง" ได้จริงหรือไม่ !?