การมองสังคมประเทศใดประเทศหนึ่ง เราพึงมองอย่างมีมิติของกาลเวลา อย่างเรื่องของสังคมไทยนั้น ไม่ควรมองแค่ช่วงห้าปีสิบปี แล้วจะเข้าใจสังคมไทยได้ถ่องแท้ ลองมองย้อนกลับไปหนึ่งร้อยปีก่อน เราก็อาจจะไม่ตื่นเต้นกับปัญหาในสังคมไทยปัจจุบันกันนัก เพราะในอดีตหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญปัญหาร้ายแรงมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังรักษาความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่น่าขายหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศเอเชียประเทศอื่น ๆ หลายปีมานี้สังคมไทย เสียหายอย่างเป็นรูปธรรมและเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองทางสากลไปมากมาย เนื่องจากสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองระดับปฏิปักษ์ วิกฤติทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านทำให้ผู้คนทั่ว ๆ ไปในสังคมคิดว่า ปัญหาวิกฤติสังคมไทยเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อย้อนทบทวนพัฒนาการของสังคมไทยทั้งกระบวนการแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองไทยมีรากเหง้ามาจากพัฒนาการทางสังคมที่บกพร่อง รูปธรรมคือในกระบวนการณ์เปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมเกษตรกรรมพึ่งพาตนเอง ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาอุปถัมป์พึ่งพิง ไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ของสังคมไทยนั้นมันมีความผิดพลาดบกพร่องเยอะ จนทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมพิกลรูป เช่นมี “วัฒนธรรมการเมือง” ที่ไม่ถูกต้องตรงกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ดีงาม ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ใช่ทุนนิยมที่ให้โอกาสแข่งขันอย่างยุติธรรม , ไม่มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม , ไม่มีการปฏิรูปการถือครองที่ดินและกฏหมายให้ยุติธรรมอย่างที่มีในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง พัฒนาการทุนนิยมไทยนั้น เกิดขึ้นภายใต้ภาวะของลัทธิล่าอาณานิคม พัฒนาต่อมาในยุคสงครามเย็น ประชาธิปไตยและทุนนิยมไทยจึงคล้ายคลึงกับประชาธิปไตยและทุนนิยมในประเทศล้าหลังยากจนทั้งหลายที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจทุนนิยม ทุนนิยมยุคโลกาภิวัตน์เร่งให้เศรษฐกิจการเมืองไทยพิกลรูปมากขึ้น จนในที่สุดการแย่งชิงเข้าครอบครองอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือวิกฤติการเมืองที่ยังยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า ถึงแม้ว่าขั้วใดขั้วหนึ่งได้ชัยชนะไป ความพิกลรูปของสังคมไทยก็จะยังดำรงอยู่ อันจะก่อเป็นปัญหารูปธรรมอย่างอื่น ๆ ต่อไป ไม่รู้จบ ปัญหาการเมืองช่วงสิบกว่าปีมานี้ ผู้คนย่อมเหนื่อยหน่ายที่เห็นความรุนแรง แต่เราอยากให้มองอย่างสุทรรศน์นิยม “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นภาวะที่มีอยู่ตลอด ในห้วงการปรวนแปรนั้น อาจเกิดความทุกข์ อาจเกิดเรื่องผิดพลาดเป็นผลลบต่อสังคม แต่ในที่สุดสัคมไทยก็จะเคลื่อนไหวหลุดพ้นจากภาวะที่ผิดพลาด แก้ปัญหากลับมารุ่งเรืองได้ แล้วต่อไปก็จะพบกับปัญหาใหม่ ๆ อีก ซึ่งถ้ามองอย่างมีพลวัตแล้ว ก็ยังเห็นความหวัง การแก้ปัญหาให้สำเร็จ จำเป็นต้องเข้าใจรากเหง้าของปัญหาว่า เศรษฐกิจ-สังคมไทยเป็นทุนนิยมพิกลรูป ที่พลเมืองยัง ไม่มี “ความเป็นไททางเศรษฐกิจ” ที่แท้จริง พูดง่าย ๆ คือ ยังพึ่งตัวเองทางเศรษฐกิจไม่ได้ ทำให้ระบบอุปถัมป์พึ่งพาต่อทุนการเมืองจึงเข้มแข็ง ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงดีในสังคมที่มีคนชั้นกลางหรือคนที่เป็นไททางเศรษฐกิจแล้วเป็นส่วนข้างมาก การแก้ไขสังคมไทยให้หลุดพ้นจาก “หุบเหววิกฤติ”นี้ จึงต้องเร่งทำให้พลเมืองไทยเป็นไททางเศรษฐกิจเสียก่อน