สถานการณ์ของ "รัฐบาล" โดยเฉพาะ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูจะหนักหนาสาหัส พอๆกับ "วิกฤติโควิด"เสียแล้ว ! ก่อนหน้านี้ บรรดานักการเมือง ต่างพากันโหมโรง ดาหน้าถล่มรัฐบาลว่าให้ระวังตัว อาจจะอยู่ไม่ครบเทอม ร่ำๆไปก่อนถึงเวลา ด้วย "วิกฤติรัฐธรรมนูญ" หลังจากที่ รัฐบาลจับมือกับ "250 ส.ว." พากัน "คว่ำ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สาม แถมยัง "วางสนุ๊ก" จน "ฝ่ายค้าน" ไปจนถึง "3 พรรคร่วมรัฐบาล" ไม่สมอารมณ์ หันไปผนึกกำลังกันเอง ทั้ง ประชาธิปัตย์ -ภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา เพื่อยื่นร่างแก้ไขฉบับของ "3 พรรคร่วม" ไม่ขอสังฆกรรมกับ "พรรคพลังประชารัฐ" ที่ประกาศเป็นผู้นำแก้รัฐธรรมนูญ แต่แล้ว กลับกลายเป็นว่า เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สาม เข้าโจมตีประเทศไทย ด้วยการเกิด "คลัสเตอร์" จาก สถานบันเทิง โดยมีรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยถูกพาดพิง และถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในต้นตอของการแพร่ระบาด แล้วยังกลายเป็นว่า รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงสาธารณสุข อย่าง "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี กำลังถูก "รุกไล่" กดดันอย่างหนัก ว่าล้มเหลว ผิดพลาด จากการบริหารงานในการรับมือกับไวรัสโควิด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการรักษาผู้ป่วย ไปจนถึงการจัดหาวัคซีนเพื่อมาฉีดให้กับคนไทยได้ทันภายในสิ้นปีนี้ ทั้ง 50 ล้านคนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศไว้หรือไม่ เวลานี้ ทั้งสังคมและพรรคฝ่ายค้าน กำลังกดดันพรรคภูมิใจไทย และอนุทิน รวมไปถึงศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมในฐานะเลขาธิพรรค ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ "คลัสเตอร์ทองหล่อ" แม้เจ้าตัวจะออกมาชี้แจง และปฏิเสธหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม ทว่าแรงกดดันที่พุ่งไปยังพรรคภูมิใจไทย อาจเป็นเพียงแค่ "ส่วนเสี้ยว" ที่อาจเปิดช่องให้รัฐบาลถูกโจมตี แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ "ตัดตอน" ขับพรรคภูมิใจไทยพ้นจากรัฐบาล จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงก็ตาม แต่ประเด็นปัญหาที่น่าจะสร้างสั่นสะเทือนได้มากไปกว่าเรื่องของพรรคภูมิใจไทยและอนุทิน กลับอยู่ในโจทย์ที่ว่า ที่สุดแล้วพล.อ.ประยุทธ์ จะยืนระยะ "รักษาแนวร่วม" ที่เคยออกมาปกป้อง สนับสนุนรัฐบาล เอาไว้หรือไม่ และอย่างไร ?! การออกมาแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ ต่อสถานการณ์โควิดเมื่อค่ำวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ "แนวร่วม" เกิดความไม่พอใจไม่น้อย เพราะนอกจากนายกฯจะขอให้ประชาชน "การ์ดอย่าตก" แล้วก็แทบไม่มีอะไรใหม่ หรือความชัดเจนเด็ดขาดว่าจะออกมาตรการคุมเข้มอย่างไร เพื่อทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง เพราะวันนี้ตัวเลขทะลุไปกว่า 5 หมื่นรายแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องและข้อเสนอ ให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจประกาศห้ามคนเคลื่อนย้ายในช่วงเทศกาล แต่นายกฯก็ยังไม่มีประกาศใช้ยาแรง คุมเข้มออกมา จนในที่สุดเมื่อผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปเพียงกี่วัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ดีดพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างที่เห็น ยังไม่นับว่าการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่ทันการ ต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด จนทำให้มีคนไม่ได้รับความช่วยเหลือ จนเสียชีวิตในที่สุด ปัญหาของรัฐบาลเวลานี้จึงไม่ใช่แค่ว่า จะรับมือกับการโจมตีจาก "ฝ่ายตรงข้าม" อย่างไร หากแต่ต้องทบทวนว่า จะรักษาแนวร่วม เอาไว้ได้อีกหรือไม่ต่างหาก !