ทวี สุรฤทธิกุล โควิดระบาดหนัก เลยอยากจะเขียนอะไรเบา ๆ ให้ชื่นใจ เมื่อเช้าวันก่อนเปิดอ่านไลน์ที่กลุ่มเพื่อนส่งมาทักทายทุกเช้า มีเพื่อนขี้เล่นคนหนึ่งส่งภาพอินโฟกราฟิกเกี่ยวกับ 5 ที่สุดของโลกในยุคปัจจุบัน ได้แก่ ไต้หวัน ที่สุดในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ นอร์เวย์ ที่สุดเรื่องใช้รถไฟฟ้า สวีเดน ที่สุดเรื่องการไม่ใช้เงินเหรียญและกระดาษ สิงคโปร์ ที่สุดในเรื่องการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ และไทย ที่สุดเรื่องมีรัฐสภาที่ใหญ่มาก ๆ ทำให้รู้สึกภูมิใจเป็นที่สุด แต่พอไปอ่านรายละเอียดที่มีคนคอมเมนต์ต่าง ๆ ก็ “ใจแป้ว” เพราะมีแต่คนให้ความเห็นไปในทางที่ตลกขบขันและเป็นคนละเรื่องกับใหญ่ที่สุดของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของการชื่นชม มีคอมเมนต์อันหนึ่งเขียนว่า “คงมีแต่คนใหญ่ ๆ เต็มสภา แต่ไม่เห็นหัวประชาชน เอาแต่แย่งกันฉีดวัคซีนโควิด” หรืออีกอันหนึ่งเขียนว่า “คงใช้งบประมาณมากที่สุด และเสร็จช้าที่สุด ในประเทศที่มีการเมืองการปกครองที่แปลกประหลาดที่สุด” และที่มีความเห็นสั้น ๆ แต่กระทบใจมากก็คือ “ภายนอกใหญ่ ภายในแย่” ผู้เขียนเลยไปค้นข่าวในกูเกิล ล่าสุดมีการเผยแพร่ออกมาในวันที่ 11 เมษายน บอกว่ารัฐสภาแห่งใหม่สร้างเสร็จไปแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ กำลังจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการสมบูรณ์แบบในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยตอนนี้เหลือแต่การปรับภูมิทัศน์และส่งมอบงาน มีเนื้อที่ 424,000 ตารางเมตร สร้างตามแนวคิด “สถาปัตยกรรมสีเขียว” เพื่อให้เป็น “แลนด์มาร์ก” แห่งใหม่บนแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้งบประมาณ 12,000 ล้านบาท และใช้เวลาสร้าง 8 ปี มีชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” ตามคติไทยในเรื่องไตรภูมิพระร่วง โดยสร้างเป็นเจดีย์สีทองขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง เพื่อให้ระลึกว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ตามชื่อของสภาแห่งใหม่นี้ที่แปลว่า “ที่ประชุมแห่งคนดีและความดี” ผู้เขียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐสภาแห่งใหม่นี้อยู่บ้าง เพราะในสมัยที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วงที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ปกครองบ้านเมือง พ.ศ. 2549 ถึง 2551 ได้ติดตามการทำงานคณะทำงานคณะหนึ่งที่รัฐสภายุคนั้นแต่งตั้งขึ้น เพื่อคัดเลือกหาสถานที่จัดสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีข่าวว่ามีผู้เสนอมาหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่ในกรุงเทพฯก็มีตรงเกียกกายที่กำลังก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่อยู่นี้ ออกไปจากกรุงเทพฯที่ใกล้ ๆ ก็คือที่สนามกอล์ฟ กรมชลประทาน ปากเกร็ด และที่กรมสรรพาวุธ แถวปากเกร็ด ใกล้ ๆ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ส่วนที่ต่างจังหวัดก็มีที่ลพบุรีกับนครนายก ซึ่งร่ำลือกันว่ามีนักการเมืองในยุค “ทุนสามานย์” เป็นผู้เสนอ โดยคิดที่จะสร้างเมืองใหม่ให้ “สุดไฮเทค” และมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง ไปกลับกรุงเทพฯได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ตอนนั้นมีข่าวว่าคณะทำงานได้จัดลำดับให้สถานที่ตรงสนามกอล์ฟ กรมชลประทาน เป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่สุด ด้วยมีเนื้อที่มาก (ถ้าจำไม่ผิดมีประมาณ 400 ไร่ ในขณะที่ตรงเกียกกายมีแค่ 120 ไร่) และคมนาคมสะดวกทั้งทางน้ำทางบก แต่พอมาถึงรัฐบาลต่อมา ในสมัยของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2551 ก็ได้เลือกสถานที่ตรงเกียกกาย พร้อมกับตั้งงบประมาณเพื่อการก่อสร้างผูกพันไว้ 12,000 บาทดังกล่าว จากนั้นการก่อสร้างก็เริ่มขึ้นปี 2552 นับถึง 2564 ปีนี้ก็ได้ 8 ปีพอดี และทราบว่าจะมีความทันสมัยมาก จะใช้ระบบ 5G ทั้งหมด พร้อมกับจะใช้หุ่นยนต์ลาดตระเวนดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อีกด้วย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนต้องเดินทางผ่านถนนสามเสนหน้ารัฐสภาแห่งใหม่นี้เกือบทุกเดือน บางเดือนก็2-3 ครั้ง เพราะเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลวชิระ รวมทั้งคุณแม่ที่เป็นคนป่วยติดเตียง ซึ่งต้องเดินทางไปพบหมอตรวจร่างกายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ (เพราะหมดสมัยนี้เขาแยกส่วนกันตรวจ ทั้งหมออายุรกรรม หมอตา หมอหัวใจ หมอกระดูก หมอผิวหนัง หมอการหายใจและนอนหลับ ฯลฯ ซึ่งต้องนัดแยกกันไปตรวจ เนื่องจากการตรวจต่ละอย่างต้องใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ที่มีคนไข้มาก) โดยเฉพาะในเวลาที่ขับรถกลับ ซึ่งพอเลี้ยวรถออกจากโรงพยาบาลไปวนมาด้านข้างของวังศุโขทัย ก็จะเป็นถนนสามเสน พอเลยตัววังมาจะข้ามคลองสามเสน บนสะพานตรงนี้แหละจะเห็นองค์ “เจดีย์สีทอง” เด่นตระการอยู่กลางถนนสามเสน มองไกล ๆ ดูคล้าย ๆ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ ยิ่งตอนเย็น ๆ พระอาทิตย์กำลังตกดิน แสงทไวไลต์ยามเย็นเป็นสีทองอมส้ม ส่องแสงฉาบไปทั่วองค์เจดีย์ ก็ยิ่งงดงามเกินคำบรรยาย หากจะมองในแง่ “ศิลปะ” รัฐสภาแห่งนี้งดงามมาก ๆ ซึ่งผู้เขียนได้ไปเดินชมตั้งแต่ที่มีการประกวดแบบก่อสร้างใน พ.ศ. 2552 นั้นแล้ว ซึ่งได้มีการนำโมเดลของบริษัทที่ร่วมประกวดมาจัดวางให้ชมที่หอศิลปะแห่งกรุงเทพมหานคร ยังแอบชื่นชมกรรมการที่คัดเลือกว่า มีสายตาและทัศนคติที่ยอดเยี่ยม ยิ่งมองจากกลางแม่น้ำขึ้นมาบนฝั่งที่ตั้งอาคาร หากเป็นยามค่ำก็จะสะท้อนกลุ่มอาคารกับองค์เจดีย์ เห็นแต่ความงดงามเต็มริมฝั่งน้ำนั้น ครั้นได้เห็นของจริง แม้จะมองจากถนนสามเสนด้านหน้า พอผ่านมาที่ตรงองค์เจดีย์ ก็จะเห็นขั้นบันไดมหึมาไต่จากพื้นหญ้าสีเขียวขึ้นไปสู่ท้องฟ้าที่มีองค์เจดีสุกปลั่งตั้งตระหง่าน เหมือนกำลังเดินขึ้นสู่เขาไกรลาส ณ ป่าหิมพานต์ ดังจินตนาการของท่านสถาปนิกที่วาดฝันไว้ ผู้เขียนเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ รู้มาว่า “รัฐสภา” มาจากคำฝรั่งว่า “Parlor” แปลว่า “ที่สำหรับพูดคุย” คือการปรึกษาหารือกันของชนชั้นปกครองในอดีต มาสู่ที่พูดคุยกันของตัวแทนประชาชนในปัจจุบัน จึงหวังว่า “สัปปายะสภาสถาน” แห่งประเทศไทยนี้ จะได้เป็นที่พูดคุยกันของ “คนดี ๆ” เพื่อ “ทำสิ่งดี ๆ” ให้เกิด “สิ่งดี ๆ” แก่คนไทยและสังคมไทย รวมทั้งเป็นหน้าตาของประเทศไทย ที่อวดสายตาและชื่อเสียงแก่คนทั่วโลก ไม่ใช่แค่มีขนาดใหญ่มาก ใช้เงินมาก หรือสวยงามมาก แต่ต้องเป็นที่ที่ “ดีมาก ๆ” ในทุก ๆ ด้านจริง ๆ อย่าได้เป็น “ไร้สาระสวะสภาสถาน” อย่างที่เป็นมา 89 ปีนั้นเลย