เมื่อพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญามีคำสั่งไม่ฟ้อง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากนี้ตามขั้นตอนจะต้องส่ง ผบ.ตร.เป็นผู้ชี้ขาด ! ความชัดเจนดังกล่าวได้รับการเปิดเผย เมื่อวันที่ 22 เม.ย.64 โดย "อิทธิพร แก้วทิพย์" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า จากการตรวจสอบทราบมาว่า คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญามีคำสั่งไม่ฟ้องธนาธร ตามขั้นตอนจะต้องส่ง ผบ.ตร.ชี้ขาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง ผบ.ตร.ทำความเห็นว่าจะเห็นด้วยหรือแย้งหรือไม่ "ถ้าเห็นแย้งมาก็ต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดตามกฎหมาย รายละเอียดเหตุผลจึงยังไม่สามารถบอกได้ แต่ถ้าคดีมีความเห็นยุติเมื่อไหร่ ทางทีมโฆษกพร้อมเปิดแถลงรายละเอียด เรายืนยันว่าความเห็นทางคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ทั้งนี้คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก คดีที่พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง นำตัวธนาธร พร้อมสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี ในความผิดฐานข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตน เพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าธนาธรถือครองหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญา หมายความว่า คดีอาญา ที่เคยถูกประเมินมาก่อนหน้านี้ว่า หากธนาธร ไม่สามารถพ้นจากบ่วงคดีนี้ไปได้ จะเกิดผลพวงตามมาอย่างหนักหนาสาหัส ทั้งต่อตัวธนาธร เองไปจนถึง "กลไก" ทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับตัวธนาธร โดยเฉพาะ "พรรคก้าวไกล" ที่วันนี้ พยายาม "ดิ้น"กันสุดกำลัง วันนี้สถานการณ์ของพรรคก้าวไกล ดูจะไม่สู้ดีนัก ยิ่งหากประเมินจากการเลือกตั้ง "สนามเล็ก" ระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา ยิ่งพบว่าแม้ก้าวไกลจะไม่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค แต่สวมเสื้อ "คณะก้าวหน้า" ซึ่งเป็นเหมือน "ต้นน้ำ" ของพรรคก้าวไกล ก็ล้วนแล้วแต่พลาดเป้าสนามเล็กกันระนาว เพราะ ธนาธรและแกนนำคณะก้าวหน้าดึงดันที่จะชูประเด็นซึ่งไปแตะ "สถาบัน" จนส่งผลให้ประชาชนไม่เอาด้วย น่าสนใจว่า พรรคก้าวไกล จะสามารถ "ยืนระยะ" ในสนามการเมืองได้ยาวนานแค่ไหน ไปจนถึงวันเลือกตั้งใหม่ และกลับมาพร้อมกับ ส.ส. ได้มากกว่า เมื่อครั้งที่พรรคอนาคตใหม่เคยทำไว้หรือไม่ เพราะเวลานี้ หากมองไปยังสนามการเมืองพบว่ายังคงเป็นพื้นที่ของ "ขั้วอำนาจใหญ่" ระหว่าง ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร กับฝ่าย "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นหลัก ยิ่งเมื่อ เวลานี้ทักษิณ ออกโรงมาช่วยลูกพรรคเพื่อไทยหาเสียง ผ่านการเคลื่อนไหวโชว์วิสัยทัศน์ผ่านโลกโซเชี่ยล ในแอพพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ ในชื่อ "โทนี วู๊ดซัม" เปิดหน้า ถล่มรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าล้มเหลวเรื่องการบริหารจัดการไวรัสโควิด-19 อย่างสิ้นเชิง พร้อมกันนี้ ยังพบว่า ทักษิณ ส่งสัญญาณ "ปรับโครงสร้างพรรค" จัดแม่ทัพนายกอง ลงมาคุมพื้นที่ โดยล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ทักษิณ ไว้ใจทั้งสิ้น เมื่อมองไปยัง พรรคก้าวไกลที่แม้วันนี้จะมีหัวหน้าพรรคชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังคือ ธนาธร ที่ยังคงเล่น "บทนำ" ไม่ต่างไปจากทักษิณ เพียงแต่ว่า สถานการณ์ของธนาธร กำลังถูกแขวนเอาไว้ด้วย "คดีความ" ที่ยังต้องรอลุ้นว่าจะมีความผิดในทาง "อาญา" หรือไม่ จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญา ทั้งนี้แม้อัยการจะมีความเห็นแย้ง กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ใช่ว่า ธนาธร จะพ้นจากบ่วงคดีอาญา คดีดังกล่าว เพราะยังต้องติดตามว่า ที่สุดแล้ว "ผบ.ตร." ยังสามารถทำความเห็นแย้งอัยการได้ หาก ทางผบ.ตร. เห็นสมควร "สั่งฟ้อง" ก็จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดต่อไป เพราะหากคดีนี้ ธนาธร ถูกชี้ว่ามีความผิด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2561 มาตรา 151 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี เว้นเสียแต่ว่า ถ้า ผบ.ตร. เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้อง ของอัยการ คดีถือครองหุ้นสื่อของธนาธร ก็ถือว่าเป็นอันยุติลง เมื่อถึงเวลานั้น จึงจะสามารถบอกได้ว่า ธนาธร พ้นบ่วงคดีอาญา ได้แล้ว100 เปอร์เซนต์ !