แม้รัฐบาลจะยืนยันไม่ใช้ยาแรง ประกาศล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 แต่สถานการณ์เหมือนเคอร์ฟิวไปในตัว นอกจากมาตรการที่เข้มงวดปิดสถานบันเทิง และขยับเวลาปิดให้เร็วขึ้นสำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร
กระนั้น หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความวิตกกังวลต่องบประมาณในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2564 ยังมีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 เฉลี่ยประมาณ 2.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 2564 รวมทั้งงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ยังใช้ได้ อีกประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถอนุมัติเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ได้เมื่อจำเป็น
โดยขณะนี้ประเมินว่าวงเงินที่เหลืออยู่ยังมีเพียงพอสำหรับรับมือโควิด เพราะในการออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิดแต่ละครั้งจะใช้เงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกลี่ยงบจากส่วนต่างๆ เพื่อมาใช้งบรับมือโควิดเพิ่มเติม
ขณะที่ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง
กล่าวว่า ในปี 2564 นี้มีเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจจากการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ภายใต้เหตุการณ์โควิดแพร่ระบาด ทั้งจากโครงการคนละครึ่ง ที่เม็ดเงินออกไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มี.ค. 2564 ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเมื่อปี 2563 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท และในปี 2564 อีก 5.2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินจากการที่รัฐเติมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ถือบัตร 13.34 ล้านคน ขณะที่โครงการเราชนะคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ 2.1 แสนล้านบาทโดยยอดใช้จ่ายผ่านโครงการล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.9 แสนล้านบาทแล้ว แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่าประมาณการเดิม ดังนั้นจึงจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเพิ่มขึ้นด้วย และยังมีเม็ดเงินจากโครงการ “ม.33 เรารักกัน” อีก 3.71 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 2564 ได้ 0.8-0.9%
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการตั้งแต่เราไม่ทิ้งกัน เยียวยาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เยียวยาเกษตรกรเยียวยากลุ่มเปราะบางและมีการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นต้น ทั้งหมดกว่า4.36 แสนล้านบาท เม็ดเงินหลัก ๆ มาจากเราไม่ทิ้งกัน 2.28 แสนล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนไปกว่า 15.3 ล้านคน และโครงการเยียวยาเกษตรกร 1.13 แสนล้านบาท กว่า 7.6 ล้านคน ทั้งหมดนี้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ประมาณ 1.2% ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจติดลบน้อยกว่าที่คาด
กระนั้น ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังโงหัวไม่ขึ้น และยังไม่ได้รับการฉีดวัควีนอย่างทั่วถึง หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าหมาย แม้จะตรวจดูกระเป๋าเงินรัฐบาลแล้วยังเหลือเพียงพอไม่ต้องตื่นตระหนกและวิตกเกินเหตุ แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันตระหนัก และร่วมด้วยช่วยกันในการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุด และไม่เปิดปลายคางให้เกิดการระบาดระลอก 4 จนอาจโดนหมัดน็อก