ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
กริช + อาภรณ์ นับเป็นเรื่องราวที่ผูกพันกับผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่สร้างความภาคภูมิใจ ในสำนึกที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “มลายู” มายาวนาน
“กริชสกุลช่างปัตตานี” หรือ “กริชหัวนกพังกะ” แบบปัตตานี ในท้องถิ่นปัตตานีมีการเรียกกันหลายชื่อ ในกลุ่มชาวมุสลิมปัตตานี เรียกกริชรูปบบนี้ว่า “กริชตะยง” หรือ “กริชจอแต็ง” ส่วนในกลุ่มชาวพุทธ ส่วนใหญ่ก็จะเรียกอยู่หลายชื่อเช่นกัน เช่น กริชหัวนก กริชหัวพังกะ กริชหัวนกพังกะ และกริชพังกะ เพราะรูปลักษณ์ของด้ามกริชรูปแบบนี้มองดูผิวเผินจะมีจมูกแหลมยาวคล้ายปากของนกกระเต็น ซึ่งชาวภาคใต้สมัยก่อนเรียกว่า “นกพังกะ” โดยคำว่านกพังกะ เป็นคำที่ชาวภาคใต้ยืมมาจากภาษามลายู ชาวมลายูกลางเรียกนกกระเต็นว่า “บุรงเปกาก๊ะ”
อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่ารูปลักษณ์ที่แท้จริง คือ “ยักษ์” ในตัว “วายัง” หรือตัวหนังของชวาที่เคยเข้ามามีอิทธิพลในศิลปกรรมท้องถิ่นของเมืองปัตตานีในอดีต เนื่องจากกริชรูปแบบนี้ด้ามกริชและฝักกริชถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ของเมืองปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก่อน โดยศิลปินช่างท้องถิ่นของเมืองปัตตานี รูปแบบของด้ามกริชนั้นเกิดจากอิทธิพลของตัวหนังแบบชวา (วายังยาวา) ในทางวิชาการจึงเรียกกริชที่มีฝักและด้ามในรูปแบบนี้ว่า “กริชสกุลช่างปัตตานี” ซึ่งมีการใช้กันตั้งแต่พื้นที่ในจังหวัดสงขลาตอนใต้ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย ตลอดลงไปจนถึง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมไปถึงรัฐกลันตัน และตรังกานู ของประเทศมาเลเซีย แต่จะพบหนาแน่นมากที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนผ้าที่สะท้อนความสัมพันธ์กับความเป็นปัตตานีในอดีต คือ “ผ้าจวนปัตตานี” หรือ “ผ้ายกตานี” ผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมแบบหนึ่งของปัตตานีและจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มีล่องหรือลวดลายตามชายผ้า หรือที่ริมผ้า บางครั้งจึงเรียกว่า “ผ้าล่องจวน” ช่างทอผ้าชาวปัตตานีรุ่นเก่าๆ เรียกผ้าชนิดนี้ว่า “จูวา” หมายถึงลวดลายที่ปรากฏอยู่บริเวณชายผ้าทั้งสองด้าน หากลวดลายวางเป็นแนวอยู่ในช่องขนาน มีลักษณะเป็นร่องริ้วเรียกว่า “ล่องจูวา” ลายของจูวาส่วนอื่นเป็นลายที่ใช้กรรมวิธีมัดหมี่ รูปแบบของลายจูวามีหลากหลายลักษณะ ผ้าที่เป็นลายจูวาเต็มตลอดทั้งผืน เรียกกันว่า “ผ้าลีมา” จัดเป็นผ้าชั้นสูง ต้องใช้ความประณีต และราคาแพง สำหรับกรณีที่เอาลายจูวาไปทำเป็นลายผ้าที่ตำแหน่งตะโพก (ปาต๊ะ) ก็จะเรียกว่าผ้า “ปาต๊ะจูวา” หากเป็นโสร่งก็เรียกว่า “ผ้าโสร่งปาต๊ะจูวา”
สมบูรณ์ ธณะสุข และ พิชัย แก้วขาว (2541) ทำการศึกษาวิจัยเรื่องโบราณที่พบในเมืองปัตตานี พบว่า ผ้าโบราณเมืองปัตตานีมีหลากหลายแบบ ทั้งกรรมวิธีการทอ เทคนิคพิเศษ หรือวิธีการผลิตลวดลาย และวัสดุหรือเส้นใยที่นำมาใช้ทอ เช่น การเรียกชื่อตามกรรมวิธีการทอ ได้แก่ ผ้าการะดูวอ (ผ้าทอแบบสองตะกอ) ผ้าการะตีฆอ (ผ้าทอแบบสามตะกอ) ผ้าการะป๊ะห์ (ผ้าทอเบบสี่ตะกอ) ผ้าซอแก๊ะ หรือ ผ้าซองเก็ต (เทียบได้กับผ้ายก หรือผ้าทอยก)
การเรียกชื่อตามเทคนิคพิเศษหรือวิธีการผลิตลวดลาย ได้แก่ ผ้าบาเต๊ะ หรือ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าอีกัต (ผ้าประเภทผ้าปูม หรือ ผ้ามัดหมี่) การเรียกชื่อตามวัสดุหรือเส้นใยที่นำมาทอ ได้แก่ ผ้าสตือรอ หมายถึงผ้าทุกชนิดที่ทอมาจากเส้นไหม ซึ่งก็คือผ้าไหมนั่นเอง ผ้ากะป๊ะส์ หมายถึงผ้าฝ้ายทุกชนิด ผ้าสะตูลี หมายถึง ผ้าที่ทอขึ้นมาจากด้ายสำเร็จรูปชนิดหนึ่ง เรียกชื่อเป็นลักษณะที่เป็นชื่อเฉพาะของผ้าชนิดนั้นๆ ได้แก่ ผ้าชายรามู ผ้าชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทผ้ายาวหรือผ้าปล่อย (ผ้าลือปัส) ผ้าปูชอปอต็อง จัดอยู่ในประเภทผ้ายาวหรือผ้าปล่อย ผ้าชนิดที่เป็นประเภทผ้ามัดย้อม ในท้องถิ่นปัตตานีเรียก “ผ้าปะลางิง” ที่เป็นผ้าปาเต๊ะ หรือผ้าบาติก เรียกว่า “บาติกจัมบุตตัน” (Batik Jumputan) ผ้าลีมา (ผ้ามัดหมี่โบราณประเภทผ้าปูม)
ผ้าโบราณปัตตานี นอกจากจะเรียกชื่อดังกล่าวแล้ว ยังเรียกชื่อซึ่งแตกต่างออกไปตามรูปแบบของลวดลายในผืนผ้า เช่น ผ้าลีมาปะไลกั๊ต (ผ้าลีมาลายตาหมากรุก) ผ้าลีมาบินตัง (ผ้าลีมาลายดาวกระจาย) ผ้าลีมาปูก๊ะต์ (ผ้าลีมาลายตาข่าย) ผ้าลีมาอายะต์ (ผ้าลีมาลายอักษรอาหรับ) ผ้าลีมาจูวา (ผ้าลีมาลายจวนหรือผ้าลีมาล่องจวน) รูปเบบและลวดลายที่มีหลากหลายเช่นนี้ แสดงถึงพัฒนาการของผลิตภัณฑ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในด้านการผลิต และการใช้ผ้าของเมืองปัตตานี ที่มีชื่อเสียงมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษที่ผ่านมา
หลายปีมานี้ เรื่องราวเกี่ยวกับ กริช-ผ้า-เครื่องแต่งกาย เป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ความสำคัญ โดยจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้สนใจโดยทั่วไป เช่นล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับ จังหวัดปัตตานี ร่วมกันจัด “โครงการวัฒนธรรมเชื่อมใจชายแดนใต้สันติสุข กริชาภรณ์ : ภูมิปัญญาอาเซียน ปี 60” ที่จังหวัดปัตตานี เป็นการเปิดพื้นที่ให้คณะวิทยากร ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
“กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายหลักในการใช้มิติวัฒนธรรม สร้างคนเป็นคนดี สังคมมีความปรองดอง สมานฉันท์ สร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างความมั่นคงให้ประเทศ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิของไทยสู่เวทีโลก กฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานเปิดฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักการจัดงานซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรม มีส่วนร่วมสืบสาน ปกป้อง คุ้มครอง มรดกวัฒนธรรม นำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ในวันงาน ภาพที่ผู้เขียนเห็นจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ส่วนใหญ่แต่งตัวสะท้อนอัตลักษณ์แบบมลายูโบราณ เพื่อเข้ามาชื่นชมงาน มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอาวุธโบราณ กริช ผ้า และเครื่องแต่งกาย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากนักวิชาการด้านกริช ผ้า และเครื่องแต่งกาย จากหลากหลายประเทศในประชาคมอาเซียน ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน รวมทั้งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องโลหะในประเทศไทย และผู้คนในพื้นที่ก็หวังว่าจะมีงานในลักษณะเช่นนี้ต่อเนื่องต่อไป